บทความพิเศษ: ใครจะมาแทน Akimoto Yasushi

เนื้อหาบทวิเคราะห์เรื่อง ใครจะมาแทน Akimoto Yasushi ได้รับไอเดียจาก Thananon Meprachsom ผู้เขียนต้องขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย นี่คือบทความพิเศษที่คิดว่าน่าจะได้ทำก่อนไปประจำที่ญี่ปุ่น..

ผู้เขียนเคยสงสัยว่า อนาคตหลังจากที่ Akimoto Yasushi (秋元 康) วางมือจากการเป็น Producer ไปแล้ว ใครจะมาสานต่องานอันยิ่งใหญ่นี้ต่อจากเขา

Akimoto Yasushi (秋元 康)
(https://www.tokyohive.com/article/2012/04/akimoto-yasushi-lets-ske48s-matsui-jurina-rest-indefinitely) 

Akimoto Yasushi ก่อน AKB48

ก่อนหน้าที่ Akimoto Yasushi จะก่อตั้ง AKB48 ในปี ค.ศ. 2005 ชีวิตของ Akimoto Yasushi เริ่มต้นจากการเป็นนักแต่งเพลงในปี ค.ศ. 1981 ก่อนที่จะเริ่มต้นการเป็น Producer วงไอดอล ในปี ค.ศ. 1985 กับวง Onyanko Club (おニャン子クラブ) ซึ่งเป็นวงไอดอลหญิงจำนวนมากถึง 52 คน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และยุบวงไปในปี ค.ศ. 1987
Onyanko Club (おニャン子クラブ)
(https://aikru.com/archives/2329)
Akimoto Yasushi กลายเป็นที่รู้จักในฐานะผู้แต่งเพลงในตำนานอย่าง Kawa no nagare no yō ni (川の流れのように) ในปี ค.ศ. 1989 ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายในชีวิตของยอดนักร้อง Misora Hibari (美空 ひばり) ก่อนที่จะถึงแก่กรรมในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1989
(https://www.oricon.co.jp/prof/246062/products/6088/1/
https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/radio/musician/201807140600/)
Misora Hibari (美空 ひばり)
(http://www.tapthepop.net/live/44528)
เพลงนี้ได้ทำให้ Misora Hibari กลายเป็นหนึ่งในนักร้องทรงพลังตลอดกาลของญี่ปุ่น และทุกวันที่ 29 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของเธอ จะมีการแสดงเพื่อรำลึกถึงชีวิตนักร้องของเธอและเพลง Kawa no nagare no yō ni ก็เป็นหนึ่งในเพลงที่ถูกนำมาร้องอีกด้วย
(http://www.misorahibari.com/?profile_list=profile)

จากยุค Showa ก็เข้าสู่ยุค Heisei ในปี ค.ศ. 1989 แต่ Akimoto Yasushi ก็ยังไม่หมดความพยายามในการก่อตั้งวงไอดอล ในปี ค.ศ. 1998 ได้ก่อตั้งวงไอดอลในชื่อ Checkicco (チェキッ娘) ซึ่งมีแนวคิด "Onyanko Club แห่งยุค Heisei" โดยมีทั้งรายการทีวี และซิงเกิ้ลเหมือนกับ Onyanko แต่ใช้สมาชิกเพียง 21 คน (สมาชิกมีจำนวนน้อยกว่าเดิม เพื่อดูแลและจัดการวงได้ง่ายขึ้น) อย่างไรก็ตาม วงก็ยุบตัวลงในปี ค.ศ. 1999 และในขณะนั้น วงไอดอลที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1997 อย่าง Morning Musume (モーニング娘) กลับประความสำเร็จมากกว่า
Checkicco (チェキッ娘)
(http://blog.livedoor.jp/dj_yu_ki/archives/730996.html)
ในปี ค.ศ. 2001 Akimoto Yasushi เป็น Producer วงไอดอลหญิงคู่อย่าง Suitei Shoujo (推定少女) โดยมีเพลงที่น่าสนใจ Shouchi no suke (しょうちのすけ) ซึ่งใช้ประกอบแอนิเมชันเรื่อง One Piece
Suitei Shoujo (推定少女)
(https://blogs.yahoo.co.jp/assassination13/9213204.html)
Suitei Shoujo ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และคงอยู่ได้นานกว่าวงอื่น ๆ ที่เคยทำมาในอดีต (จนกระทั่งยุบวงในปี ค.ศ. 2006) ด้วยจำนวนสมาชิก 2 คน นั่นคือ Rino และ Lissa ซึ่งวงนี้มีความคล้ายกับวง t.A.T.u. ของรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นการแนวการแต่งกายที่เซ็กซี่ และอายุของสมาชิกตอนก่อตั้งที่ยังเป็นเยาวชน
(https://allabout.co.jp/gm/gc/205669/all/
https://hk.entertainment.appledaily.com/entertainment/daily/article/20030602/3327260)

Akimoto Yasushi กับผลงานใน AKB48

ในปี ค.ศ. 2005 Akimoto Yasushi มีความคิดที่จะก่อตั้งวงไอดอลรูปแบบใหม่ขึ้นมา โดยใช้แนวคิด "ไอดอลที่คุณสามารถไปพบได้" โดยใช้เธียเตอร์เป็นสถานที่พบเจอไอดอล โดยมีการจัดตั้ง "Akihabara48 Project" ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักแต่งเพลง Akimoto Yasushi, Kubota Yasushi (窪田康志) ผู้บริหารของบริษัท KRK Produce, และ Shiba Kotaro (芝幸太郎) ผู้บริหารของบริษัท Office48
(https://krkproduce.co.jp/whats_krk/
http://web.archive.org/web/20050409015224/http://www.office48.jp:80/index.html)

Akihabara48 ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2005 โดยเป็นวันแรกที่มีการแสดงบนเธียเตอร์ ซึ่งจำนวนผู้ชมในครั้งแรกสุดก็คือ 7 คน ก่อนที่บริษัท AKS จะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2006 เพื่อดูแลวงไอดอลใหม่นี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ
เมมเบอร์รุ่นที่ 1 ของ AKB48
(http://www.2000fun.com/thread-5332954-1-1.html)
ไอดอลที่โด่งดังในเวลานั้น มักปรากฏตัวเฉพาะทางหน้าจอทีวีหรือรายการวิทยุ และการจะไปพบเหล่าไอดอล ก็ต้องรองานที่ได้รับเชิญออกมาเท่านั้น นั่นคือ Akihabara48 หรือ AKB48 ในเวลาต่อมา ได้นำวงไอดอลญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยรูปแบบที่เข้าถึงง่ายขึ้นผ่านเธียเตอร์ และมีเพลงที่แฝงไปด้วยความหมายอันลึกซึ้ง

เธียเตอร์เป็นสถานที่ที่ไอดอลจะทำการแสดง โดยมีแฟนคลับเข้ามารับชมรับฟังและให้กำลังใจเมมเบอร์ที่ชื่นชอบ ซึ่งเธียเตอร์หรือโรงละครเป็นแหล่งการให้ความบันเทิงที่มีมาตั้งแต่อดีต การมีเธียเตอร์จึงทำให้แฟนคลับสามารถเจอไอดอลได้ดังคอนเซ็ปต์ที่ว่า "ไอดอลที่คุณไปพบได้" (会いに行けるアイドル, aini-ikeru-aidoru) นอกเหนือจากนั้น เธียเตอร์ยังเป็นสถานที่ที่เมมเบอร์จะได้แสดงความสามารถพร้อมทั้งการพัฒนาตนเองไปในตัวอีกด้วย
เธียเตอร์ AKB48
(https://akb48.fandom.com/wiki/Theater)
นอกจากนี้ เธียเตอร์ยังนำไปสู่การจัดตั้งระบบทีมขึ้นมา เนื่องจากเมมเบอร์หนึ่งคนไม่สามารถขึ้นแสดงบนเธียเตอร์ได้ทุกวัน และการมีระบบทีมทำให้เธียเตอร์มีรอบการแสดงมากขึ้นซึ่งสามารถกระจายงานให้กับเมมเบอร์ที่มีจำนวนมากได้อีกด้วย

ทีมของ AKB48 Group เป็นการบ่งบอกว่าเมมเบอร์ขึ้นแสดงบนเธียเตอร์ในกลุ่มใด ซึ่งแต่ละทีมจะมีลักษณะเฉพาะ และมีชุดเพลงที่ใช้ร้องในแต่ละรอบที่แตกต่างกันไปอีกด้วย

แต่สิ่งที่เป็นอัตลักษณ์และความพิเศษของวงที่ Akimoto Yasushi ทำมาโดยตลอด ก็คือการทำรายการโทรทัศน์ที่จัดสำหรับวงโดยเฉพาะ ซึ่งเป้าหมายของรายการ ก็คือการนำเสนอมุมมองและทัศนคติของเมมเบอร์ของวงที่แตกต่างออกไปจากรายการปกติ และในการแสดงบนเวที

ทำไม Akimoto Yasushi จึงใช้รายการโทรทัศน์เป็นสื่อในการปรากฏตัวของเมมเบอร์ แทนที่จะออกตามงานต่าง ๆ ทั่วไป นั่นคือการทำให้เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง แต่เนื้อหารายการก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากสิ่งที่ทำให้ผู้คนอยากติดตามก็คือความสนุกที่ได้จากการชมและความแปลกใหม่ที่รายการอื่น ๆ ไม่สามารถนำเสนอได้

ในปี ค.ศ. 2008 รายการ AKBINGO! และ AKB48 Nemousu Terebi (AKB48ネ申テレビ) ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์สำหรับเมมเบอร์ AKB48 โดยทั้งสองรายการได้นำเสนอด้วยมุมมองและรูปแบบที่แตกต่างกัน

รายการเหล่านี้ของไอดอลจึงเกิดขึ้นเพื่อให้พวกเธอได้ทำกิจกรรมและเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย นอกเหนือจากการร้องเพลง แสดงละคร พูดคุยกันเอง หรือถ่ายแบบนิตยสารเท่านั้น

นอกจากนี้ สิ่งที่ AKB48 เป็นเอกลักษณ์จากวงไอดอลอื่น ๆ ก็คืออีเวนท์ที่จัดขึ้นเป็นประจำ ได้แก่ งานจับมือ (握手会, Akushukai) ซึ่งเป็นงานที่แฟนคลับจะได้จับมือกับไอดอลที่ชื่นชอบโดยตรง, งานเลือกตั้งเซมบัตสึ (選抜総選挙, Senbatsu Sousenkyo) ที่แฟนคลับสามารถเลือกเซนเตอร์และเซมบัตสึซิงเกิ้ล, หรืองานเป่ายิงฉุบ (じゃんけん大会, Janken Taikai) ที่ไอดอลจะต้องเป่ายิงฉุบเพื่อไต่เต้าสู่การได้ปรากฏอยู่ในซิงเกิ้ล

จุดเด่นของ AKB48 ทำให้วงเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ และประสบความสำเร็จมากกว่าที่ Akimoto Yasushi เคยทำวงไอดอลมาตั้งแต่ในอดีต

ในปี ค.ศ. 2011 Akimoto Yasushi ซึ่งขยายผลผลิตแห่ง AKB48 ออกไปยังเมืองสำคัญของญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็น SKE48 หรือ NMB48 ก็ได้จัดตั้งวงไอดอลเพิ่มเติมในประเทศอย่าง HKT48 และวงไอดอลญี่ปุ่นนอกประเทศเป็นครั้งแรกในชื่อ JKT48 ที่อินโดนิเซีย

Akimoto Yasushi กับ Nogizaka46

ในปี ค.ศ. 2011 เช่นกัน  Akimoto Yasushi ประกาศก่อตั้งวงคู่แข่งของ AKB48 อย่างเป็นทางการขึ้นมาในชื่อ "Nogizaka46" ซึ่งเลข "46" ก็คือเลขที่มีแนวคิด "แม้ว่าจะน้อยกว่า 48 แต่ก็จะไม่ยอมแพ้"
(https://www.oricon.co.jp/news/89336/full/)
Nogizaka46 (乃木坂46)
(https://endia.net/nogizaka46-menber-ranking)
Nogizaka46 สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของ AKB48 ในวันนั้นที่สูงมากจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไอดอลญี่ปุ่นไปแล้ว ซึ่งการจัดตั้งคู่แข่งโดยมี Producer เป็นคนเดียวกัน ทำให้เกิดคำถามที่ว่า AKB48 จะยังคงยิ่งใหญ่เป็นเบอร์ 1 ได้นานแค่ไหน เพราะในช่วงเวลานั้น AKB48 ยังมีเมมเบอร์ตัวเด่น ๆ ที่คอยขยายความเกรียงไกรของวงออกไป อีกทั้งวงน้องสาวที่เข้ามาช่วย AKB48 ให้โด่งดังยิ่งขึ้น

Nogizaka46 ถูกสร้างมาให้แตกต่างจาก AKB48 แบบตรงข้ามเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการไม่มีเธียเตอร์และระบบทีม, ไม่มีงานเลือกตั้ง, ไม่มีงานเป่ายิงฉุบ, หรือไม่มีการใช้ SNS ที่นิยมโดยทั่วไป (เพราะเมมเบอร์จะลงเรื่องราวเฉพาะในบล็อคเท่านั้น) ยกเว้นงานจับมือที่ยังเหมือนกับ AKB48

หัวข้อทางวิชาการ "Image Strategy of Nogizaka46: How Do Young People Perceive It?" ซึ่งเผยแพร่ในปี ค.ศ. 2015 ได้อธิบายถึงเหตุผลของการเป็นคู่แข่งของ Nogizaka46 และความแตกต่างระหว่าง Nogizaka46 และ AKB48
(http://repository.seikei.ac.jp/dspace/bitstream/10928/865/1/ippankenkyuhoukoku-49-5_1-18.pdf)

สิ่งสำคัญในการเป็นไอดอลหญิงของญี่ปุ่นมีอยู่ 2 ประการ คือ "ความสวย" และ "การให้ความเพลิดเพลิน" ซึ่งภาพลักษณ์ของการเป็นไอดอลที่แตกต่างกัน จะมาจากคุณสมบัติหลักทั้งสองประการที่แตกต่างกันไปด้วย

* การให้ความเพลิดเพลิน (Entertainment) ตามความคิดของผู้เขียน คือ ภาพลักษณ์ในฐานะที่เมมเบอร์แสดงออกอย่างตลกขบขัน มีรีแอ็คชันที่ดี และมักโดดเด่นในรายการวาไรตี้ เช่น Sashihara Rino (指原莉乃) จาก HKT48, Minegishi Minami (峯岸みなみ) จาก AKB48, หรือ Akimoto Manatsu (秋元真夏) จาก Nogizaka46

Nogizaka46 ถูกสร้างมาให้อยู่ในรูปแบบของนักเรียนโรงเรียนเอกชนแบบฝรั่งเศส ซึ่งแฟนคลับหลายคนและหัวข้อตามสื่อต่างก็มองว่า Nogizaka46 มีเมมเบอร์ที่สวยกว่า AKB48 Group ในทางตรงข้าม ในเรื่องของการให้ความเพลิดเพลินนั้น AKB48 Group อยู่ในจุดที่เหนือกว่า

* ส่วนนี้เป็นที่มาและสมมติฐานของการวิจัย *
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้วิจัย ตั้งสมมติฐานชุดแรกว่า Nogizaka46 มีภาพลักษณ์ของเมมเบอร์ที่มีความสวยมากกว่า แต่การให้ความเพลิดเพลินจะน้อยกว่า AKB48

เมื่อผู้คนเพิ่มความสนใจไปยังวงไอดอล พวกเขาจะเริ่มมองเห็นลักษณะของเมมเบอร์แต่ละคน และเมื่อระบุเมมเบอร์แต่ละคนได้ ก็จะเข้าใจถึงตัวตนของเมมเบอร์แต่ละคน และเปลี่ยนภาพลักษณ์ของวงที่มอง


นั่นจึงทำให้เกิดสมมติฐานชุดที่สองว่า การจดจำเมมเบอร์ Nogizaka46 จะช่วยเพิ่มภาพลักษณ์ของวงในฐานะวงที่เน้นความสวย แต่จะไม่เพิ่มภาพลักษณ์ของวงในฐานะวงที่เน้นการให้ความเพลิดเพลิน


ภาพลักษณ์ของแบรนด์มีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติของลูกค้า หากผู้คนจดจำลักษณะความสวยของ Nogizaka46 ผู้คนเหล่านั้นก็จะแสดงความพึงพอใจเพราะความสวยคือจุดขายที่สำคัญ ในทางตรงข้าม Nogizaka46 ไม่ได้มีการให้ความเพลิดเพลินเป็นจุดขาย ดังนั้น การมองว่า Nogizaka46 เป็นวงที่เน้นการให้ความเพลิดเพลินจึงไม่เกี่ยวข้องกับการประเมินของผู้คน


นั่นจึงทำให้เกิดสมมติฐานชุดที่สามว่า ภาพลักษณ์ของ Nogizaka46 ในฐานะวงที่เน้นความสวยจะสร้างผลเชิงบวกสำหรับความพึงใจที่มีต่อวง และไม่มีผลใด ๆ กับภาลักษณ์ในฐานะการให้ความเพลิดเพลิน


สมมติฐานชุดที่สองและสาม นำไปสู่สมมติฐานเกี่ยวกับตัวแปรคั่นกลาง (ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงเพื่อถ่ายทอดอิทธิพลของต้นเหตุไปยังผลลัพธ์) ของภาพลักษณ์ของวง ต่อความสัมพันธ์ระหว่างการจดจำเมมเบอร์และความพึงใจ แต่ผลจากภาพลักษณ์ของวงก็อาจมีผลเพียงบางส่วน นั่นคือ แม้ว่าผู้คนจะจดจำเมมเบอร์ได้และไม่รู้ว่าเป็นวงที่มีภาพลักษณ์ของความสวย ก็สามารถให้พึงใจได้เช่นกัน แต่ก็มีบางกรณีที่เมมเบอร์มีแฟนคลับที่ไม่ได้พิจารณาจากความสวยเป็นหลัก


นั่นจึงทำให้เกิดสมมติฐานชุดที่สี่ที่ว่า ภาพลักษณ์ของ Nogizaka46 ในฐานะวงที่เน้นความสวยจะมีอิทธิพลบางส่วนต่อความสัมพันธ์ระหว่างการจดจำเมมเบอร์และความพึงใจที่มีต่อวง และไม่มีอิทธิพลใด ๆ โดยภาพลักษณ์ในฐานะการให้ความเพลิดเพลิน


ในการวิจัย จะใช้ตัวอย่างเป็นเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชนญี่ปุ่น 222 คน (ชาย 122 คน, หญิง 97 คน, และไม่ระบุเพศ 3 คน) โดยพิจารณาว่าตัวอย่างทั้งหมดไม่ได้เป็นแฟนของ AKB48 Group หรือ Nogizaka46 แต่อย่างใด ส่วนวิธีการอธิบายถึงการจดจำเมมเบอร์จะใช้เมมเบอร์ที่ติดเซมบัตสึซิงเกิ้ลที่ 11 อย่าง Inochi wa Utsukushii (命は美しい) ส่วนการจดจำซิงเกิ้ลของวง จะใช้ซิงเกิ้ลทั้ง 11 เพลงของวง


ผลการวิจัยมีอยู่หลายส่วน แต่ผู้เขียนจะขอยกเฉพาะส่วนที่สำคัญ ดังนี้

ผลการวิจัยในประเด็นทัศนคติที่เป็นบวกต่อวงไอดอลอื่น ๆ (เป็นคำถามที่เกิดขึ้นเพื่อทดสอบความชอบ Nogizaka46 และวงอื่น ๆ ซึ่งประกอบด้วย AKB48, Morning Musume (モーニング娘。), Momoiro Clover Z (ももいろクローバーZ), และ E-girls) เมื่อทำการทดสอบด้วย simple correlations พบว่ามีค่าเป็นบวกเกือบทั้งหมด นั่นคือทัศนคติของตัวอย่างซึ่งเป็นนักศึกษามึความชอบในวงไอดอลที่เข้ากับตนเอง และไม่ได้เกลียดวงใดวงหนึ่งเพียงเพราะชอบอีกวงหนึ่งแต่อย่างใด

และเมื่อทำการเปรียบเทียบผลของเพศต่อความแตกต่างในการชื่นชอบวงไอดอล พบว่ามีเพียง Nogizaka46 ที่ผลของเพศไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ Nogizaka46 ได้รับการสนับสนุนจากผู้คนทั้งสองเพศอย่างไม่แตกต่างกัน

ในขณะที่ผลการวิจัยในเรื่องของความหมายที่แตกต่างระหว่าง Nogizaka46 และ AKB48 ซึ่งเป็นการประเมินภาพลักษณ์ของทั้งสองวงผ่านลักษณะทั้งหมด 21 ปัจจัย พบว่ามีความแตกต่างในหลายปัจจัย แม้ว่านักศึกษาจะมีความชอบทั้ง Nogizaka46 และ AKB48 ก็ตาม

ตัวอย่างภาพลักษณ์ของ Nogizaka46 ที่แตกต่างอย่างชัดเจนจาก AKB48 ไม่ว่าจะเป็นความสุขุม, ความลึกลับ, หรือความหนักแน่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของการให้ความเพลิดเพลินที่น้อยกว่า และภาพลักษณ์ที่ซับซ้อนและสง่างามแสดงให้เห็นถึงลักษณะที่สวยงามภายใน Nogizaka46 จึงสามารถสรุปได้ว่า Nogizaka46 มีภาพลักษณ์ของเมมเบอร์ที่มีความสวยมากกว่า แต่การให้ความเพลิดเพลินจะน้อยกว่า AKB48

ภาพลักษณ์ของ Nogizaka46 ในฐานะวงที่เน้นความสวยเป็นหลักนั้น พบว่ามีผลคั่นกลางบางส่วนระหว่างจำนวนเมมเบอร์ที่จดจำได้และความชื่นชอบวง นั่นคือ ผู้คนก็ยังพึงใจใน Nogizaka46 แม้ว่าผู้คนจะจดจำเมมเบอร์ได้โดยที่ไม่รู้ว่าภาพลักษณ์ของวงนั้นจะเน้นที่ความสวย นอกจากนี้ปัจจัยในเรื่องของการให้ความบันเทิงของเมมเบอร์ไม่ได้มีอิทธิพลจำนวนเมมเบอร์ที่จดจำได้หรือความชื่นชอบวงแต่อย่างใด

จากงานวิจัยนี้ พอจะอนุมานได้ในหลายประเด็นดังนี้
  • Nogizaka46 และ AKB48 ไม่ได้เป็นคู่แข่งที่หวังจะทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นคู่แข่งเพียงในนามเท่านั้น นอกจากนี้ การที่แฟนคลับชอบทั้งสองวงพร้อมกันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ จึงยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า AKB48 ต้องพยายามมากขึ้นเพื่อชนะใจแฟนคลับไว้ให้ได้
  • Nogizaka46 เป็นแบรนด์อีกรูปแบบหนึ่งที่เข้ามาตีตลาดเพื่อขายในสิ่งที่ AKB48 ไม่ได้ขาย นั่นคือภาพลักษณ์ที่เน้นความสวยของ Nogizaka46 ซึ่งต่างจาก AKB48 ที่เน้นภาพลักษณ์ของการให้ความเพลิดเพลิน (Entertaining)
  • สิ่งที่ทำให้ Nogizaka46 สามารถขยายฐานแฟนคลับได้อย่างรวดเร็ว ก็คือแฟนคลับหญิงที่มีปริมาณไม่แตกต่างจากแฟนคลับชาย ในขณะที่ AKB48 จะเน้นไปที่แฟนคลับชายเป็นหลัก 
ในเวลาต่อมา Nogizaka46 ได้ก่อตั้งวงน้องสาวเช่นกัน นั่นคือ Keyakizaka46, Yoshimotozaka46, และ Hinatazaka46 (Hiragana Keyakizaka46 เดิม) ตามลำดับ

แม้ว่าภาพลักษณ์และคอนเซปต์ของ Nogizaka46 จะแตกต่างจาก AKB48 แต่สิ่งที่เหมือนกันระหว่างสองวงนี้ ก็คือรายการโทรทัศน์ของวงโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นงานถนัดของ Akimoto Yasushi นอกจากการแต่งเนื้อร้องเพลง 

Akimoto Yasushi กับโลกบันเทิงวันนี้

Akimoto Yasushi ในวันนี้กลายเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของไอดอลญี่ปุ่นในปัจจุบันกับผลงานจำนวนมาก ทั้งฝั่ง AKB48 Group และ Sakamichi ซึ่งรายการวิทยุโทรทัศน์ และงานสำคัญต่าง ๆ ในฐานะ Producer ได้ประกันอนาคตของ Akimoto Yasushi ที่จะยังมีบทบาทในโลกบันเทิงอย่างแน่นอนไปอีกอย่างน้อย 5-10 ปี

ความท้าทายของ Akimoto Yasushi กับ AKB48 Group คือการขยายวงน้องสาวไปนอกญี่ปุ่นซึ่งก็ทำสำเร็จแล้วใน JKT48, BNK48, MNL48, AKB48 Team SH, AKB48 Team TP, และ SGO48 อีกทั้งรายการ Produce48 ที่ดึงแฟนคลับจากฝั่งเกาหลีให้รู้จัก AKB48 Group มากขึ้นอีกด้วย

ในขณะที่ความท้าทายกับ Sakamichi คือการทำวงน้องสาว ขยายอาณาจักรบรรพตวิถีให้มากขึ้น ซึ่งทำสำเร็จแล้วใน Keyakizaka46, Yoshimotozaka46, และ Hinatazaka46 ยิ่งไปกว่านั้น Yoshimotozaka46 เป็นตัวบ่งบอกถึงความสำเร็จของ Akimoto Yasushi ที่สามารถขายไอดอลที่เนอกเหนือจากหญิงสาวในช่วงวัยรุ่น

ไม่ใช่แค่เลข 48 หรือ 46 เท่านั้นที่ Akimoto Yasushi ทำงาน เพราะยังมีผลงานอีกจำนวนมากที่ Akimoto Yasushi ยังเลือกที่จะทำอีกด้วย ส่วนหนึ่งก็มากจากการที่ Akimoto Yasushi สูญเสียการควบคุมใน AKS ไปแล้ว ทำให้เป็นอิสระมากชึ้น และสร้างความท้าทายใหม่ ๆ ที่เหนือกว่านั้น

ในปี ค.ศ. 2017 Akimoto Yasushi ได้จัดทำรายการโทรทัศน์เพื่อแข่งขันสุดยอดไอดอลในชื่อรายการ "Last Idol" (ラストアイドル) โดยออกอากาศในช่อง TV Asahi ซึ่งเป็นความท้าทายที่ Akimoto Yasushi ไม่เคยลองทำมาก่อน เนื่องจากที่ผ่านมา รายการสำหรับไอดอล คือการทำให้ไอดอลได้ออกและมีแอร์ไทม์บนหน้าจอทีวี แต่รอบนี้คือการแข่งขัน นอกจากนี้ชื่อ "Last Idol"ก็ยังเป็นชื่อวงไอดอลที่เป็นผู้ชนะในซีซั่นที่ 1 ของรายการอีกด้วย
Last Idol (ラストアイドル)
(http://www.idolfes.com/2019/campaign_tifdedebut/)
ในซีซั่นที่ 1 คือการคัด 7 เมมเบอร์เพื่อเดบิวต์ในวงนี้ ซึ่งผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะได้เป็นใหญ่ แต่ในซีซั่นที่ 2 ผู้ที่ตกรอบจากซีซั่นที่ 1 ก็ได้กลับมาในฐานะเมมเบอร์ยูนิตย่อยต่าง ๆ โดยยังคงบรรยากาศการแข่งขันที่ยูนิตต่าง ๆ เข้ามาประชันโดยมี Producer ที่แตกต่างกันไป ในปัจจุบันมี 5 ยูนิตย่อย และมีรุ่นที่ 2 พร้อมด้วยอันเดอร์
(https://www.sanook.com/moshimoshi/2961/)

ในปี ค.ศ. 2017 เช่นเดียวกัน Akimoto Yasushi ร่วมงานกับ Sony Music และ ANIPLEX เพื่อจัดวงไอดอลแบบใหม่ ที่ชื่อว่า "22/7" (ナナブンノニジュウニ, Nanabun no Nijuuni) โดยใช้คุณค่าที่ว่า "ไอดอลที่อยู่เหนือมิติ" ซึ่งเป็นไอดอลเสมือน (Virtual Idol) ที่มีการพากย์เสียงลงไปด้วย
(https://www.nanabunnonijyuuni.com/about/)
22/7
(https://cartoon.mthai.com/news/998.html) 
ความแตกต่างระหว่าง 22/7 กับ Seiyuu Idol ทั่วไป (หรือไอดอลนักพากย์เสียง) ก็คือ ไอดอล 22/7 จะมีการจับการเคลื่อนไหวและท่าเต้นเพื่อใส่ลงไปในตัวละครไอดอลเสมือนนี้ ซึ่งปกติแล้วไอดอลทั่วไปจะเต้นและร้องโดยจับภาพของบุคคลเป็นหลัก

ผลงานของ Akimoto Yasushi กับการสร้างวงไอดอลใหม่ ๆ เพื่อแข่งกับไอดอลกระแสหลักยังคงมีอยู่ต่อไป ในขณะที่ความเป็นไปได้ที่ Producer วงไอดอลคนนี้จะวางมือจากโลกบันเทิง อาจจะยังอีกนาน เพราะ Akimoto Yasushi ยังคงทำงานและลุยกับทุกด้านอย่างเต็มที่ในขณะที่วัยได้เข้าสู่ความเป็นคนชราไปแล้ว

ใครจะมาแทน Akimoto Yasushi

กลับมาที่คำถามหลักของบทความหลังจากที่ได้อธิบายเรื่องราวและผลงานตลอดชีวิตของ Akimoto Yasushi ไปแล้ว ซึ่งผลงานและการทำงานอันมากมายของ Akimoto Yasushi เองก็ผ่านความล้มเหลวมาหลายครั้งจนขึ้นสู่จุดสูงสุดกับ AKB48 และยังคงก่อตั้งและหาความท้าทายต่อไปเรื่อย ๆ 

แต่คำถามก็คือ ถ้าวันใดวันหนึ่ง Akimoto Yasushi ต้องหาคนที่มาทำงานแทนทั้งหมดตรงนี้ ใครพอจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้ คำตอบจากผู้เขียนเองก็อาจจะไม่ดีเท่าไร แต่คิดว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นคำตอบที่ดีที่สุดที่พอจะตอบได้อย่างสมเหตุสมผล โดยมีประการต่าง ๆ ดังนี้

ประการแรก เขียนเนื้อหารายการโทรทัศน์ได้ - ตลอดชีวิตการทำงานในฐานะ Producer ของ Akimoto Yasushi สิ่งที่ควบคู่มาโดยตลอด ก็คือรายการโทรทัศน์ของเหล่าไอดอล ไม่ใช่เพียงแค่ปรากฏตามรายการเพลง หรือแขกรับเชิญในรายการต่าง ๆ แต่คือรายการที่ไอดอลเป็นผู้แสดงหลัก 

รายการโทรทัศน์เปรียบเสมือนหน้าต่างที่นำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้ชมได้จดจำและเพลิดเพลินไปกับการดำเนินรายการ ซึ่งกลายเป็นจุดขายที่บ่งบอกว่า นี่คือวงไอดอลจากฝีมือของ Akimoto Yasushi 

แม้ว่า Producer และนักเขียนเนื้อหารายการโทรทัศน์ อาจเป็นงานที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง และสามารถแยกกันทำได้ เนื่องจากการผลิตวงไอดอลตั้งแต่อดีตก็อาศัยการขายแผ่นเพลง, การออกอีเวนท์, และการพรีเซนท์โฆษณา เป็นรายได้หลักโดยไม่ต้องลงทุนซื้อช่วงเวลาทางโทรทัศน์เพื่อผลิตรายการให้กับวงโดยเฉพาะ 

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว สองสิ่งนี้มีส่วนที่ช่วยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เนื่องจากการมีรายการโทรทัศน์เป็นของตัวเองสามารถควบคุมเป้าหมายของการนำเสนอและโปรโมทภาพลักษณ์ได้ตรงจุดมากที่สุด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือรายการ AKBINGO! ซึ่งเป็นรายการแนววาไรตี้ (เน้นตลกเป็นจุดขาย) ที่นำเสนอภาพลักษณ์ของไอดอล AKB48 ในแนวของความให้บันเทิงและตัวตนต่าง ๆ ของเมมเบอร์ที่แฟนคลับอาจจะยังไม่รู้มาก่อนที่ไหน นอกจากนี้ ยังมีช่วงเพลงอยู่ในรายการ ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์เพลงที่วางจำหน่ายล่าสุด และสามารถลงโฆษณาต่าง ๆ ของวงในรายการแบบไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม (เมื่อเทียบกับการนำโฆษณาไปลงในรายการอื่น ๆ แทน) 

การเป็น Producer ที่สามารถเขียนรายการโทรทัศน์เป็นของตัวเองได้จึงเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงการตามรอย Akimoto Yasushi ได้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะทำวงไอดอลแบบไหนก็ตาม รายการโทรทัศน์ของไอดอลคือสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย และทำให้เกิดปัจจัยประการถัดมา

ประการที่สอง ความท้าทายใหม่ ๆ ต้องมีได้เสมอ - ไม่ใช่เพียงแค่การทำให้วงไอดอลอยู่รอดจนถึงวันนี้ด้วยการปรับรูปแบบตลอดเวลา แต่ต้องสร้างสิ่งใหม่ ๆ ในวงการบันเทิงได้เสมอ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ง่ายในการสร้างผลตอบรับเชิงบวก

Akimoto Yasushi ประสบความสำเร็จในการเป็น Producer จากความล้มเหลวหลาย ๆ ครั้ง แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้ Akimoto Yasushi มีบทเรียนที่จะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต และการสร้างวงไอดอลที่ผ่านมา ก็มีภาพลักษณ์ที่แตกต่างกันไป 

ความแปลกใหม่ทำให้ผู้คนสนใจและติดตามด้วยความสงสัยว่าจะเป็นอย่างไรและเป็นแบบไหน ซึ่งบางอย่างก็ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็สร้างเสียงตอบรับที่ดีเกินคาดได้ อย่างเช่น รายการ Produce48 ที่ตอนแรกถูกมองว่าจะออกมาในรูปแบบไหน แต่ก็สร้างสีสันทั้งการแนะนำ AKB48 Group ให้กับแฟนคลับเกาหลีใต้ และเนื้อหารายการที่เป็นเอกลักษณ์ตามแบบของ MNet ในเกาหลีใต้เอง 

ความท้าทายใหม่ ๆ ของ Akimoto Yasushi กับ AKB48 ยังมีอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งวงน้องสาวที่เหมือนกับการนำธุรกิจเฟรนไชส์มาประยุกต์ใช้และยังขยายไปยังต่างแดนอีกด้วย, การจัดตั้งทีม 8 ที่มีเมมเบอร์จากแต่ละจังหวัดทั่วประเทศจำนวน 47 คน, หรือแม้แต่งานเลือกตั้งเซมบัตสึที่เป็นสิ่งที่พูดถึงและถามหากันทุกปี

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายใหม่ ๆ ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จอยู่เสมอ และเช่นเดียวกับความแปลกใหม่ใน AKB48 ที่ล้มเหลวไม่ว่าจะเป็น SDN48 หรือ OJS48 ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ยังเป็นบทเรียนที่ทำให้ AKB48 เดินหน้าต่อไปได้ในอนาคต

ในปี ค.ศ. 2019 การที่ AKB48 Group เข้าสู่จุดถดถอย ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ความท้าทายใหม่ ๆ ของ AKB48 Group กลายเป็นความเคยชินไปแล้ว หรือแม้แต่ AKB48 Group Asia Festival 2019 เองก็เป็นจุดผิดพลาดที่จัดงานต่อเนื่องจากงานเลือกตั้งเซมบัตสึของ BNK48 ทำให้ผู้คนไม่หนาแน่นดั่งที่คาดการณ์ไว้

สิ่งที่ทำให้ AKB48 Group กลับมาคืนชีพได้ ก็มีเพียงคือการหาสิ่งใหม่ ๆ ที่ทำให้ผู้คนกลับมาติดตามหรือเป็นที่จับจ้องอีกครั้ง และไพ่เดิม ๆ อย่างเลือกตั้งหรือเป่ายิงฉุบไม่อาจปรับปรุงใหม่เพื่อดึงกระแสได้อีกต่อไปแล้ว อีกทั้งช่วงนี้ยังเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังจะเปลี่ยนรัชสมัยอีกด้วย การเกิดใหม่อาจจะกลับมาอีกครั้งในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และการเกิดใหม่นั่นเองที่ทำให้ปัจจัยที่สามเป็นสิ่งที่สำคัญ

ประการที่สาม ให้เมมเบอร์ได้โชว์ฝีมือและมีคุณค่าในวง - การจะปั้นไอดอลให้เป็นดาวเด่นที่ถึงฝัน ต้องเข้าใจความคิดและความปรารถนาของพวกเธอเสียก่อน ไอดอล AKB48 ยุคก่อน สามารถเข้าถึงความยิ่งใหญ่ เพราะได้รับแรงผลักดันในสิ่งที่พวกเธอต้องการและยินดีที่จะทำ อย่างเช่น Sashihara Rino (指原莉乃) ที่กำลังจะกลายเป็น Producer เพราะได้รับโอกาสให้เป็น Producer ในซิงเกิ้ลเดี่ยวของ Matsumura Kaori (松村香織), Shinoda Mariko (篠田麻里子) ที่ได้เข้าสู่ AKB48 เพราะลูกค้าในคาเฟ่เห็นความสามารถและเขียนคำร้องไปยัง Akimoto Yasushi เพื่อรับเธอเข้ามาในวง, หรือ Matsui Jurina (松井珠理奈) จาก SKE48 ที่ได้รับโอกาสเข้ามาแสดงในซิงเกิ้ลร่วมกับเมมเบอร์รุ่นพี่ของ AKB48 ตั้งแต่แรกเริ่ม

การให้พื้นที่เมมเบอร์ในการแสดงความสามารถ เป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ใช้เวลานานพอสมควร แต่คุ้มค่ากับการได้รับผลตอบแทนที่มหาศาลในอนาคต เพราะการสร้างความโด่งดังอย่างยั่งยืนก็มาจากรากฐานแฟนคลับที่ดีและพื้นที่แสดงออกที่มากและนานพอ

การสร้างไอดอลให้ติดตลาดทุกคนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ทุกคนมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน และการให้โอกาสทุกคนควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ในโลกทางธุรกิจ มีเพียงจุดขายหลัก ๆ เพียงไม่กี่จุดเท่านั้นที่จะไปรอดและได้รับการเติมเต็มอย่างแท้จริง ดั่งเช่นการผลักดันที่เกิดขึ้นจาก AKS ในปัจจุบัน

ไอดอลที่ Akimoto Yasushi เป็นผู้สร้างนั้น มีสิ่งหลัก ๆ คือการร้องเพลง การเต้น และการออกรายการโทรทัศน์ ซึ่งสามสิ่งนี้ คือพื้นฐานอันพึงมีของไอดอล แต่ความสามารถพิเศษหรือโอกาสพิเศษคือสิ่งที่ไม่ได้มีบ่อย ๆ และมีเพียง Producer ที่สัมผัสถึงความตั้งใจของไอดอลได้เท่านั้นที่จะมอบสิ่งเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม

ไอดอลรุ่นใหม่ใน AKB48 Group ก็มีหลายคนที่มีความสามารถพิเศษ แต่กลับไม่ได้รับโอกาสมากเท่าที่ควร ซึ่งกลายเป็นที่น่าเสียดายยิ่งกว่า หากพวกเธอจบการศึกษาออกไปโดยที่ไม่ได้ไปถึงฝั่งฝันพร้อมกับกล่าวอำลาเพียงว่า "ฉันจะลองหาเส้นทางใหม่ของฉันที่ดีกว่านี้" แทนที่จะเป็น "ฉันคิดว่าถึงเวลาที่จะให้คนรุ่นใหม่ได้เฉิดฉายภายในวงบ้าง (เพราะฉันสามารถยืนหยัดในโลกบันเทิงด้วยตนเองได้แล้ว)"

ตัวอย่างเมมเบอร์ AKB48 Group ที่จบการศึกษาโดยที่ไม่ได้เฉิดฉายจากความสามารถพิเศษที่มีในตัว อย่างเช่น Chou Kurena (長久玲奈) จากทีม 8 ของ AKB48 ซึ่งมีกีตาร์เป็นคู่ใจของเธอ หรือ Takeuchi Miyu (竹内美宥) ที่มีเสียงร้องเป็นเอกลักษณ์จนทางเกาหลีใต้ต้องดึงตัวไปเป็นศิลปิน เป็นต้น

แฟนคลับหลายคนเสียดายที่ไอดอลสายพรสวรรค์ไม่ได้แจ้งเกิดกับ AKB48 Group แต่กลับถูกดองกับงานหลักต่าง ๆ จนพลังอันน่าอัศจรรย์ที่ถูกฝังอยู่ในจิตใจค่อย ๆ จางหายไปกับกาลเวลา

จริง ๆ แล้ว AKB48 Group ในปัจจุบัน Akimoto Yasushi ไม่ได้มีส่วนในการถือหุ้นที่จะสามารถควบคุมทิศทางของวงไปในแนวที่อยากให้เป็นได้ การเป็น Producer โดยที่ไม่ได้มีส่วนในการจัดการบริหาร จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการทำงานในอนาคต เนื่องจากการผลักดันเมมเบอร์ที่มีพรสวรรค์แต่ไม่สามารถสร้างยอดขายได้ตามเป้าหมาย เป็นการลงทุนที่สูงเกินไปและใช้เวลานาน ดังนั้นปัจจัยต่อไปจึงมีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อให้พรสวรรค์ของเมมเบอร์ได้รับการตอบสนอง

ปัจจัยที่สี่ อำนาจการบริหารวง - การเป็นเจ้าของธุรกิจ สามารถควบคุมทิศทางและนโยบายของธุรกิจได้ ธุรกิจบันเทิงก็เช่นกัน เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจต่างก็มุ่งหวังกำไรสูงสุด และการลงทุนต่าง ๆ ล้วนเป็นความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต

การเป็น Producer ของวงไอดอลขนาดเล็ก อาจจะสามารถก้าวข้ามเรื่องอำนาจบริหารวงไปได้เลย เนื่องจากเงินทุนไม่สูงมาก และมีบุคลากรไม่มากและไม่ซับซ้อน แต่วงไอดอลขนาดใหญ่และมีมูลค่าสูง ผู้บริหารมีสิทธิ์ในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ ซึ่ง Producer ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในฝ่ายบริหาร

ในยุคแรก ๆ ของ AKB48 นั้น Akimoto Yasushi คือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง AKS ที่ดูแล AKB48 ซึ่งแนวทางในระยะแรกประสบความสำเร็จเพราะการดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปดั่งที่ Akimoto Yasushi ต้องการเพราะการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท จึงสามารถออกนโยบายต่าง ๆ ได้กว่าในปัจจุบันที่ Akimoto Yasushi ไม่ได้มีส่วนในผู้ถือหุ้น AKS อีกต่อไป

AKB48 ที่ขาดความท้าทายใหม่ ๆ ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็คือการขาด Akimoto Yasushi ในฐานะผู้บริหารใหญ่ที่สามารถตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีความเสี่ยง แต่เพื่อรายได้ที่งอกงามในอนาคต อย่างการเปิดพื้นที่ให้ไอดอลในการแสดงความสามารถพิเศษต่าง ๆ ในทางที่ควรจะเป็น

จากสี่ปัจจัยนี้ ผู้เขียนมองว่า ตัวแทนของ Akimoto Yasushi ควรจะมีคุณสมบัติดังกล่าวเพื่อความสำเร็จในการบริหารวงไอดอลในอนาคต และการเป็น Producer อย่างเดียวก็ไม่เพียงพอต่อการพาวงไอดอลของ Akimoto Yasushi ให้อยู่รอดได้อีกต่อไป

บทส่งท้าย

การเป็นไอดอลในฉบับของ Akimoto Yasushi ไม่ได้มีเพียงแค่การแต่งเพลง การเลือกชุดหรือฉากที่เข้ากับบรรยากาศของเพลงเท่านั้น แต่ต้องผลักดันเมมเบอร์ให้มีความสามารถพิเศษต่าง ๆ ที่ดึงดูดแฟนคลับให้ติดใจในวง อีกทั้งต้องสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้ได้ติดตามเป็นประจำเพื่อเป็นที่รู้จักมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นภาพลักษณ์ที่หลากหลายยังเป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำให้วงต่าง ๆ อยู่ร่วมกันได้โดยไม่ทับซ้อนกัน 

ใครที่เข้ามาแทนที่ Akimoto Yasushi ผู้เขียนขอให้นึกถึงสี่ปัจจัยที่ได้กล่าวข้างต้นนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้ดูแววของ Producer มือทองที่ช่ำชองในเรื่องต่าง ๆ นอกเหนือจากงานปกติของ Producer และสามารถดูแลไอดอลได้อย่างมีประสิทธิภาพในแบบเดียวกับ Akimoto Yasushi 

Comments

Popular posts from this blog

บทวิเคราะห์: เหตุผลที่ไม่มีทางที่จะได้เห็น Produce46..

Shiawase no Hogoshoku (しあわせの保護色) - กับตัวตนต่าง ๆ ของ Shiraishi Mai

Majimuri Gakuen (マジムリ学園) กับเค้าโครงประวัติศาสตร์จริง