Majimuri Gakuen (マジムリ学園) กับเค้าโครงประวัติศาสตร์จริง

หลังจากที่มีการปรากฎตัวชองชื่อละครในเรื่อง Majimuri Gakuen (マジムリ学園) ซึ่งเป็นซีรี่ส์ลำดับที่ 7 ของ Majisuka Gakuen (マジすか学園) ของ Akimoto Yasushi (秋元康) โดยผู้รับผิดชอบในบทของภาคนี้ คือ Maruo Maruichirō (丸尾丸一郎) ก็ทำให้ผู้เขียนเกิดคำถามหนึ่งขึ้นมา "ทำไมถึงรู้สึกว่ามันคล้ายกับประวัติศาสตร์ที่เคยอ่านมาตอนหนึ่งพอดี" เมื่อทำการค้นหาแล้ว พบว่าก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ และวันนี้ 48ศึกษาจะมาเล่าเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างตัวละครใน Majimuri Gakuen (マジムリ学園) กับเรื่องจริงของประวัติศาสตร์
โปสเตอร์ของละครเรื่อง Majimuri Gakuen (マジムリ学園) 

แปลความบทนำของเรื่อง

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจถึงเรื่องราวโดยรวมของละครเรื่องนี้ก่อน ซึ่งจะช่วยทำให้เข้าใจถึงบทจริง ๆ ที่เกิดขึ้นว่าสอดคล้องหรือเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์อย่างไร (http://www.ntv.co.jp/majimuri/)
Majimuri Gakuen (マジムリ学園)
"Lily ต้องการที่จะข้ามกำแพงของอันโหดร้ายนี้
จริงแล้ว ๆ นั้น เธอก็ประสงค์ที่ทำเช่นนั้นอยู่แล้ว
คือ การรวมพลังเป็นหนึ่งในการทลายกำแพงนั้น และเป็นอิสระ

ภายใต้โรงเรียนเอกชน Arashi-ga Gakuen (私立嵐ヶ丘学園) ที่ถูกปกครองด้วยระบอบชนนั้นอันเข้มงวด โดยมีประธานสภานักเรียนเป็นผู้นำสูงสุด
สมาชิกภายใต้สภานักเรียน ต่างก็เป็นคณะผู้พิทักษ์ที่ร่วมกันปกครอง
พวกเขาเหล่านั้นถูกเรียกว่า "ชนชั้นปกครอง" 「選民」
และอีกกลุ่มที่ถูกปกครอง คือ "สามัญชน"「平民」
ประธานสภานักเรียนผู้ปกครอง Arashi-ga Gakuen อย่าง Kaiser ผู้ปกครองด้วยอำนาจมหาศาลกับสามัญชน

"อย่ามองขึ้นไป จงมองด้านล่าง แม้จะมองขึ้นไป ท้องฟ้าก็มิได้ลงมาช่วย ช่างโชคร้ายอะไรเช่นนี้"

สามัญชนต่างก้มหน้ายอมรับสภาพที่เกิดขึ้นในโรงเรียน และต้องจ่ายภาษีทุกครั้งที่ประตูหน้าโรงเรียน
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในโรงเรียนแห่งนี้

จนกระทั่งนักเรียนแลกเปลี่ยนปริศนาอย่าง Lily เข้ามาในโรงเรียนแห่งนี้

Lily ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและเดินบนเส้นทางของตนเอง
โดยมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกสามคนไม่ว่าจะเป็น Hina (ヒナ), Bara (バラ), และ Sumire (スミレ)
"ตราบเท่าที่มี Lily อยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ การเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นในโรงเรียนได้" และเกิด สมาคมดอกไม้ (華組) ขึ้น

อย่างไรก็ตาม บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ (史上最強の男たち) ยังรอสมาคมดอกไม้อยู่ข้างหน้า

นี่คือเรื่องราวการปฏิวัติบนโลกใบเล็ก ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่
อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติบนโลกใบเล็ก ๆ นี้ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกใบใหญ่ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า"

สิ่งที่อยากให้เข้าใจถึงเรื่องราวโดยรวมของละครเรื่องนี้ คือชื่อของตัวละครและโครงเรื่องที่คล้ายกับเหตุการณ์หนึ่งบนประวัติศาสตร์โลก นั่นคือ การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (Novemberrevolution) ในเยอรมนี

Novemberrevolution

ก่อนอื่น ผู้เขียนต้องขอขยายความคำว่า "การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (Novemberrevolution)" เพื่อให้ผู้อ่านทุกคนเข้าใจในประวัติศาสตร์ และสามารถเข้าใจในความเชื่อมโยงระหว่างบทละครและเรื่องในประวัติศาสตร์

※ ละครในตอนนี้ไม่ได้เป็นละครอิงประวัติศาสตร์ แต่เป็นการนำเค้าโครงจากประวัติศาสตร์มาใช้ในละคร ดังนั้น ชื่อ, เนื้อหา, และบทละครจึงแตกต่างออกไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์จริง

การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (หรือในภาษาเยอรมัน คือ Novemberrevolution) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเริ่มจากการก่อการปฏิวัติในวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1918 โดยเหล่าทหารเรือในเมือง Wilhelmshaven ซึ่งขัดขืนคำสั่งในการสู้รบกับกองราชนาวีสหราชอาณาจักร 

หลังจากนั้น การปฏิวัติก็ได้แพร่ขยายออกไปทั่วทั้งประเทศ จนนำไปสู่การสละราชสมบัติของจักรพรรดิ (Kaiser) Wilhelm II และเสด็จลี้ภัยออกไปนอกประเทศในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918

หลังจากที่จักรพรรดิเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศ พรรคประชาธิปไตยสังคมแห่งเยอรมนี (Sozialdemokratische Partei Deutschlands, SDP ซึ่งนิยมฝ่ายซ้าย) ก็ได้กลายเป็นผู้ปกครองเยอรมนี โดยมีรัฐบาลเฉพาะกาล และประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐ ซึ่งมี Friedrich Ebert เป็นอัครมหาเสนาบดี (นายกรัฐมนตรี) 
การประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐที่อาคาร Reichtag
ในขณะเดียวกัน เกิดการจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมเสรี (Freie Sozialistische Republik) ขึ้นมาหลังสาธารณรัฐถูกประกาศจัดตั้งขึ้น 2 ชั่วโมง โดยสันนิบาตสปาร์ตาคัส (Spartakusbund) ที่นำโดย Karl Liebknecht และ Rosa Luxemburg มีความต้องการจัดตั้งสภาโซเวียตเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในรัสเซีย
ฝ่ายปฏิวัติก่อการประท้วงใน Berlin
แน่นอนว่า การปฏิวัติในเยอรมนีจึงยังไม่สิ้นสุด เนื่องจากกลุ่มของ SDP และสันนิบาตสปาร์ตาคัส ซึ่งในเวลาต่อมา คือ พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมนี (Kommunistische Partei Deutschlands, KPD) มีอำนาจปกครองประเทศที่ซ้อนทับกัน ดังนั้นจึงเกิดการแย่งชิงเพื่อยึดอำนาจการปกครองขึ้น

KDP ภายใต้การนำของสันนิบาตสปาร์ตาคัส ได้ก่อการปฏิวัติรอบสองขึ้นในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1919 ในทั่วประเทศ โดยเฉพาะใน Berlin ซึ่งเป็นเมืองหลวง การก่อการปฏิวัติครั้งนี้ ถูกปราบลงโดยกองกำลังของรัฐบาล (ภายใต้รัฐบาลเฉพาะกาลที่นำโดย SDP และ Freikorps ที่เป็นทหารผ่านศึกผู้นิยมฝ่ายขวา) และแกนนำของสันนิบาตสปาร์ตาคัสทั้งสองคน ได้แก่ Karl Liebknecht และ Rosa Luxemburg ถูกสังหารในวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1919 อันเป็นการสิ้นสุดความพยายามในการปฏิวัติของ KPD 
การต่อสู้ในการการปฏิวัติซึ่งนำโดยสันนิบาตสปาร์ตาคัส
※ แหล่งอ้างอิงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์: https://www.lpb-bw.de/novemberrevolution.html


ความคล้ายคลึงกับ Novemberrevolution

ในบทนำ เรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดมาอย่างชัดเจน คือ "การปฏิวัติ" ซึ่งการปฏิวัติต้องมีผู้ก่อการปฏิวัติและชนชั้นปกครอง ซึ่งในเรื่องนี้ชนชั้นปกครอง คือ สภานักเรียน และมีผู้นำการปฏิวัติคือ Lily 

จริง ๆ แล้วในส่วนที่คล้ายคลึงของตัวละครที่ชื่อ Lily คือ Rosa Luxemburg

Lily นำแสดงโดย Oguri Yui (小栗有以)
Rosa Luxemburg ผู้นำนำสันนิบาตสปาร์ตาคัส
Lily เป็นตัวละครที่ถูกแต่งขึ้นมาให้อยู่ในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เข้ามาเพื่อก่อการปฏิวัติ ซึ่งตรงกับ Rosa Luxemburg ในส่วนที่เป็นชาวโปแลนด์ตั้งแต่กำเนิด และกลายได้สัญชาติเยอรมนีผ่านการแต่งงาน (ที่ไม่เคยได้อยู่ร่วมกับสามีและหย่าร้างกันในเวลาต่อมา) จนกลายเป็นผู้นำการปฏิวัติในที่สุด

Rosa Luxemburg เป็นนักปฏิวัติที่นำสันนิบาตสปาร์ตาคัส เช่นเดียวกับ Lily ที่นำสมาคมดอกไม้ (華組) โดยคำว่า Rosa ในภาษาโปล (Róża) แปลว่า "ดอกกุหลาบ" ซึ่ง Lily ก็เป็นชื่อดอกไม้เช่นกัน และเพื่อนร่วมขบวนการทุกคนต่างก็มีชื่อเป็นดอกไม้ไม่ว่าจะเป็น Hina (ดอก Daisy) , Bara (ดอกกุหลาบ), และ Sumire (ดอก Violet) 
สหายร่วมรบในสมาคมดอกไม้ (華組): Hina แสดงโดย Okabe Rin (岡部麟), Bara แสดงโดย Mukaichi Mion (向井地美音), และ Sumire แสดงโดย Kuranoo Narumi (倉野尾成美) 
ในขณะเดียวกัน พิจารณาชื่อตัวละครที่เรียกกันในละครเรื่องนี้ในฝั่งสภานักเรียน 
  • ประธานสภานักเรียน คือ Kaiser แสดงโดย Homma Hinata (本間日陽)
  • รองประธานสภานักเรียน คือ Bismarck แสดงโดย Ogino Yuka (荻野由佳)
  • เลขานุการสภานักเรียน คือ Muskel แสดงโดย Koyanagi Yu (小柳友)
  • หัวหน้าหน่วยหมายเลขหนึ่ง คือ Eins แสดงโดย Kato Minami (加藤美南)
  • หัวหน้าหน่วยหมายเลขสอง คือ Zwei แสดงโดย Taniguchi Megu (谷口めぐ)
  • หัวหน้าหน่วยหมายเลขสาม คือ Drei แสดงโดย Ochiai Motoki (落合扶樹)
เหล่าสภานักเรียนที่ปกครองโรงเรียนในระบอบชนชั้นจนนำไปสู่การปฏิวัติในโรงเรียน
ชื่อในสภานักเรียนทั้งหมดเป็นภาษาเยอรมันโดยเมื่อพิจารณาความหมายของชื่อก็พบว่าประธานสภาและรองประธานสภาเป็นชื่อที่ตัวตนจริง และในฝ่ายนี้ก็จะสามารถตีความได้เป็นดังนี้
  • Kaiser คือพระนามที่เรียกจักรพรรดิเยอรมนีในจักรวรรดิเยอรมนี ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึง Wilhelm II เพราะจักรพรรดิทุกพระองค์ของจักรวรรดิเยอรมันก็คือ Kaiser
  • Bismarck คือชื่อของ Otto von Bismarck อัครมหาเสนาบดีคนแรกของจักรวรรดิเยอรมันผู้รวมชาติเยอรมนีให้เป็นหนึ่งเดียว และทำให้เยอรมนีเป็นมหาอำนาจใหม่ของยุโรปและโลกในเวลานั้น 
  • Muskel ในภาษาเยอรมัน หมายถึง กล้ามเนื้อ ซึ่งสื่อถึงการเป็นคนทำงานของสภานักเรียน
  • Eins, Zwei, และ Drei คือ 1, 2, และ 3 ในภาษาเยอรมันตามลำดับ
ชื่อของตัวละครในสภานักเรียน จึงถูกสื่อว่าคล้ายคลึงกับ จักรวรรดิเยอรมัน ที่ปกครองด้วยชนชั้นและกดขี่ประชาชน ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ประชาชนย่อมมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากและเงินจำนวนมากต่างถูกเก็บเพื่อการสงคราม

อย่างไรก็ตาม กองกำลังเพียง 3 หน่วย ไม่เพียงพอต่อการปกครองในแบบนี้ และในประวัติศาสตร์จริงนั้น จักรวรรดิเยอรมัน มีกองกำลังถึง 16 กองทัพในช่วงที่เกิด Novemberrevolution

ดังนั้น ในละครจึงต้องมีกองกำลังเป็นจำนวนมากที่ภักดีต่อสภานักเรียน เพื่อให้ชัดเจนว่า สภานักเรียนยิ่งใหญ่และเข้มแข็งพอที่จะปกครองด้วยอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเช่นนี้ โดยจัดถึง 9 หน่วยด้วยกัน ได้แก่ Vier, Fünf, Sechs, Sieben, Acht, และ Neun ซึ่งหมายถึง 4, 5, 6, 7, 8, และ 9 ตามลำดับ
กองกำลังฝ่ายสภานักเรียนหมายเลข 4-9 แสดงโดย Yamaguchi Maho (山口真帆), Murakumo Fuka (村雲颯香), Moriya Koji (守屋光治), Tano Ayaka (太野彩香), Nishimura Nanako (西村菜那子), และ Takahashi Mau (髙橋真生)
สะท้อนถึงความเป็นความจริงในประวัติศาสตร์ที่ชื่อหน่วยในเวลานั้นของจักรวรรดิเยอรมันที่ใช้ชื่อตัวเลขเป็นชื่อกองทัพ ซึ่งง่ายต่อการจดจำและเรียก (และเป็นที่นิยมในการใช้งานกันทั่วโลก สำหรับการใช้ตัวเลขเป็นชื่อเรียกกองทัพ) 

และนี่จึงเป็นสิ่งที่ละคร Majimuri Gakuen (マジムリ学園) สื่อถึงการปฏิวัติโดยใช้เค้าโครงและชื่อที่คล้ายคลึงกับการปฏิวัติเดือนพฤศจิกายนในเยอรมนี

บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ (史上最強の男たち) - บุรุษที่ถูกเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์จริง

บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ (史上最強の男たち) ถือเป็นอีกตัวละครหนึ่งที่จะทำให้เรื่องราวของละคร Majimuri Gakuen (マジムリ学園) ยิ่งสนุกมากขึ้น โดยถือเป็นฝ่ายที่สนับสนุนสภานักเรียนเพื่อจัดการกับสมาคมดอกไม้ (華組) ที่นำโดย Lily 
เหล่าสมาชิกในบุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ (史上最強の男たち)
บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ ถูกวางตัวให้มีพละกำลังที่ดีที่สุดในละคร ซึ่งอาจไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสภานักเรียนโดยตรง แต่อาจถูกจ้างวานหรือมีผลประโยชน์ร่วมกับสภานักเรียน หากพิจารณาในมุมมองประวัติศาสตร์ซึ่ง สภานักเรียน ได้นำเค้าโครงมาจาก จักรวรรดิเยอรมัน และอยู่ในช่วงที่ Lily ก่อการปฏิวัติในโรงเรียนพอดี ก็น่าจะสื่อถึง Freikorps (กองกำลังอิสระ) 

Freikorps - แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างไร

ผู้เขียนให้ความเห็นว่า บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ (史上最強の男たち) น่าจะมีเค้าโครงมาจาก Freikorps (กองกำลังอิสระ) ในช่วง Novemberrevolution ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้รัฐบาลสาธารณรัฐ Weimar รอดพ้นจากภัยการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ได้

แล้วทำไมในละครต้องใช้ชื่อ "บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์" ผู้เขียนเชื่อว่า ละครต้องการสื่อถึงกองทัพเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งถูกมองว่าแข็งแกร่งที่สุดในโลกในเวลานั้น โดยเป็นกำลังหลักที่ต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่จักรวรรดิเยอรมันกลับเป็นผู้แพ้สงคราม เพราะความไม่สงบที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติภายในประเทศ ทำให้ทหารจำนวนมากต้องถอยกลับไปปราบปรามการปฏิวัติ และสงบศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยที่ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ได้ใช้กำลังทหารบุกเข้าตีบนแผ่นดินเยอรมนีเลย

ทหารเยอรมันซึ่งเข้ามาปราบปรามการปฏิวัติของกลุ่มคอมมิวนิสต์ กลายเป็นผู้แพ้สงคราม และต้องตกงานเพราะรัฐบาลชุดใหม่ไม่สามารถจ้างทหารจำนวนมหาศาลได้ (ไม่ว่าจะเนื่องด้วยข้อบังคับในสนธิสัญญา Versailles ที่ห้ามมีกองกำลังเกิน 100,000 นาย และการรัดเข็มขัดเพื่อจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม) เมื่อทหารเหล่านี้ถูกขับออกจากกองทัพ คนเหล่านั้นก็ไม่ใช่ทหารอีกต่อไป กลายเป็นกองกำลังติดอาวุธที่ผ่านศึกสงครามเท่านั้น

ทหารที่ยังอยู่ในกองทัพก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การปฏิวัติได้เพียงลำพัง และเหล่าอดีตทหารต่างก็ไม่อยากเห็นประเทศกลายเป็นคอมมิวนิสต์ แต่อดีตทหารก็ไม่สามารถกลับเข้าไปรับราชการในกองทัพที่ขาดทั้งเงินและเสถียรภาพ ดังนั้น ทหารผ่านศึกที่ถูกปลดจากราชการจึงรวมตัวกันอีกครั้งในฐานะ Freikorps (กองกำลังอิสระ) เพื่อสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลในการปราบคอมมิวนิสต์ โดยเป็นกองกำลังติดอาวุธที่มีประสิทธิภาพที่เทียบเคียงกับกองทัพของสาธารณรัฐ Weimar (Reichswehr)
Freikorps จะถูกแยกให้แตกต่างจาก Reichswehr โดยใช้ตราหัวกะโหลกเป็นเครื่องหมายระบุตนเอง
Freikorps จึงกลายเป็นกองกำลังหลักและเป็นเครื่องมือให้กับรัฐบาลเพื่อจัดการกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง Novemberrevolution ที่เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อในการยุคของสาธารณรัฐ Weimar โดยใช้ความแข็งแกร่งจากอดีตสมาชิกกองทัพจักรวรรดิเยอรมันซึ่งแข็งแกร่งที่สุดในเวลานั้นเป็นจุดเด่น

※ แหล่งอ้างอิงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์: https://www.dhm.de/lemo/kapitel/weimarer-republik/revolution-191819/freikorps.html

ในละครเรื่องนี้ บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ จึงถูกจำลองออกมาจาก Freikorps ซึ่งรับคำสั่งจากสภานักเรียนเพื่อเข้าจัดการกับ Lily และพวกพ้องโดยตรง และสิ่งนี้นี่เองที่ทำให้เรื่องราวในละครดูสนุกและเข้มข้นมากกว่าการเผชิญหน้าโดยตรงระหว่าง Lily และสภานักเรียน ทั้ง ๆ ที่สภานักเรียนมีกองกำลังเป็นของตนเองถึง 9 หน่วยอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามในละครเรื่องนี้ ชื่อของตัวละครไม่ได้นำชื่อหรือฉายาของ Freikorps จริง ๆ ในประวัติศาสตร์มาใช้ แต่เป็นการสมมติชื่อขึ้นเพื่อให้ดูทรงพลัง
  • カバ (ฮิปโปโปเตมัส)
  • 死神ジョー (เทพเจ้าแห่งความตาย Joe)
  • 雷残丸 (วงสายฟ้าพิฆาต)
  • 狂犬ジャック(สุนัขบ้า Jack)
  • 怪力ギガントコング (คิงคองยักษ์จอมพลัง)
แต่สิ่งที่คล้ายกันอย่างหนึ่งของบุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ และ Freikorps คือชื่อตัวละครในกลุ่มบุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นชื่อเล่นหรือชื่อฉายา ดังนั้น ตัวละครในกลุ่มนี้จึงเป็นที่น่าสนใจสำหรับเรื่องราวของบทละครในฐานะกำลังที่สนับสนุนสภานักเรียน ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดของ Lily

โรงเรียนมัธยมปลาย Arechi kōgyō - อุตสาหกรรมบนที่ดินว่างเปล่าที่ไม่ได้ว่างเปล่าจริง ๆ

โรงเรียนมัธยมปลาย Arechi kōgyō  (荒地工業高校) ถูกสร้างขึ้นมาให้แตกต่างจากกลุ่มสภานักเรียน แต่เป็นศัตรูกับสมาคมดอกไม้ (華組) อันดับ 1 ตามคำอธิบายตัวละคร (ซึ่งในละครนั้น อาจจะเป็นมิตรหรือศัตรูกันนั้นก็ได้ ขึ้นกับการวางบท จึงไม่สามารถคาดเดาได้)

ตัวละครจากโรงเรียนมัธยมปลาย Arechi kōgyō  (荒地工業高校)
ตัวละคนที่น่าสนใจในการวิเคราะห์ครั้งนี้ จะมีด้วยกัน 3 คนตามที่ปรากฏในกรอบสีแดง ดังนี้
  • 卍 (まんじ - manji) - หัวหน้าโรงเรียนมัธยมปลาย Arechi kōgyō ผู้เป็นศัตรูที่ใหญ่ที่สุดของ Lily แสดงโดย Takino Yumiko (瀧野由美子)
  • ガラケー (garake) แสดงโดย Jo Eriko (城恵理子)
  • ハカセ (Hakase) แสดงโดย Amenomiya Masaki (雨野宮将明)
ขอให้สังเกตตัวละคร 卍: ใช่ครับ มองไม่ผิดครับ "เครื่องหมายสวัสดิกะ" ซึ่งเครื่องหมายสวัสดิกะนี้ เป็นสวัสดิกะวนซ้ายที่เป็นสัญลักษณ์ในพระพุทธศาสนา และวัดในญี่ปุ่นก็มีพระพุทธรูปที่มีเครื่องหมายสวัสดิกะวนซ้ายเป็นทั่วไปอยู่แล้ว
วัดในศาสนาพุทธของญี่ปุ่น ถูกแทนด้วยสัญลักษณ์ 卍 และในวัดก็มีสัญลักษณ์ 卍 เช่นกัน
แต่ว่า หากเครื่องหมายสวัสดิกะนี้เป็นเครื่องหมายที่วนขวาแบบนี้ "卐" นั่นคือสัญลักษณ์ของ พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน (Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei, NSDAP) ที่ทุกคนคุ้นเคยนั่นเอง แล้วตัวละคร 卍 มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ หรือเค้าโครงของเรื่องราวตามบทละครนี้ 

โรงเรียนมัธยมปลาย Arechi kōgyō กับรอยต่อประวัติศาสตร์

ตัวละคร 卍 ถูกวางให้เป็นสื่อที่แทนถึง NSDAP ที่มี Adolf Hitler เป็นผู้นำพรรคอยู่แล้ว (ซึ่งละครได้ทำการพลิกเครื่องหมายสวัสดิกะ และแฝงความหมายของตัวละครอื่น ๆ ที่สนับสนุนตัวละคร 卍 โดยไม่ได้มีการบอกเป็นนัยตรง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นขัดแย้งในอนาคต)

ในประวัติศาสตร์จริง เยอรมนีในช่วงภายหลังความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น เป็นยุคที่ข้าวยากหมากแพง และไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เป็นจุดในประวัติศาสตร์สำคัญที่เกิดความโกลาหลไปทั่ว

ผู้เขียนได้เกริ่นนำถึง Novemberrevolution ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างรัฐบาลเยอรมนี (สาธารณรัฐ) และกลุ่มคอมมิวนิสต์ของ Rosa Luxemburg และลงเอยด้วยการถึงประหาร Rosa Luxemburg

อย่างไรก็ตาม จากเนื้อหาคร่าว ๆ ของละคร จะพบว่า Lily จะต้องเผชิญหน้ากับ คณะของโรงเรียนมัธยมปลาย Arechi kōgyō  (荒地工業高校) ที่เข้ามาในโรงเรียนนี้

ผู้เขียนขอเล่าประวัติศาสตร์หลัง Novemberrevolution ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การขึ้นมาของ NSDAP ในเวลาต่อมา โดยหลังจากที่รัฐบาลซึ่งมีทั้งทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 1 และกลุ่มฝ่ายขวา สามารถปราบคอมมิวนิสต์ที่ก่อการปฏิวัติภายในประเทศได้สำเร็จ รัฐธรรมนูญไวมาร์ (Weimar) ถูกประกาศใช้ในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1919 อันเป็นจุดเริ่มต้นของสาธารณรัฐ Weimar ในเยอรมนี

NSDAP มีอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์และทุนนิยม โดยเน้นชาตินิยมและอำนาจนิยม ก่อตั้งขึ้นที่ Munich เพื่อกอบกู้เกียรติที่เยอรมนีพ่ายแพ้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป้าหมายคือการรวบอำนาจ และทำลายคอมมิวนิสต์ โดยอาศัยความกลัวคอมมิวนิสต์ (Red Terror) เป็นเทอมในการต่อสู้และเรียกร้องกลุ่มต่าง ๆ ให้เข้าร่วม เนื่องจากคอมมิวนิสต์ในเยอรมนี มีความคิดคล้ายกับระบอบที่พรรคบอลเชวิคปฏิวัติในรัสเซียสำเร็จ (ซึ่งเป็นความกลัวในการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น)

แน่นอนว่าอุดมการณ์ของ NSDAP ขัดแย้งทั้งคอมมิวนิสต์และสาธารณรัฐ Weimar ทำให้ต้องต่อสู้กับทั้งสองฝ่าย กลายเป็นความขัดแย้งแบบสามขั้ว และ NSDAP เข้ายึดอำนาจรัฐบาลท้องถิ่นใน Munich ซึ่งเรียกว่า กบฎ Hitler (หรือกบฎโรงเบียร์, Hitlerputsch) ในวันที่ 8–9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1923
กองกำลังที่สนับสนุน NSDAP ระหว่างกบฎ Hitler
การก่อกบฎครั้งนั้น ประสบความล้มเหลว เนื่องจากทหารและตำรวจเข้าปราบปรามคณะผู้ก่อการได้สำเร็จ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นใน Novemberrevolution จนนำไปสู่การจับกุม Adolf Hitler หัวหน้าผู้ก่อการในที่สุด

※ แหล่งอ้างอิงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์: https://www.dhm.de/lemo/kapitel/weimarer-republik/innenpolitik/hitler-putsch-1923.html

กลับมาที่เรื่องราวในละคร Lily กับคณะของโรงเรียนมัธยมปลาย Arechi kōgyō  (荒地工業高校) ถูกวางตัวให้เป็นศัตรูกัน เนื่องจากคณะของโรงเรียนมัธยมปลาย Arechi kōgyō  (荒地工業高校) ที่มีอำนาจเด็ดขาดนั้น (โดยถูกวางไว้ให้มีบทบาทคล้ายกับ NSDAP ในประวัติศาสตร์จริง) ก็หวาดกลัวว่า การปฏิวัติจะเข้ามายังโรงเรียนของตนเอง ดังนั้นเพื่อตัดไฟแต่ต้นลม จึงต้องสกัดกั้น Lily ที่อาจจะมาแลกเปลี่ยนที่โรงเรียนของตนเองแล้วเข้ามาทำลายอิทธิพลของตนเองก็ได้ (และอาจมีผลประโยชน์ร่วมกันกับสภานักเรียน โดยในประวัติศาสตร์ ทหารเก่าบางส่วนก็เป็นกลุ่มนิยม Kaiser และยอมเข้าร่วมกับ NSDAP เพราะเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่น่าจะสกัดกั้นอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ได้)

ดังนั้น ตัวละคร 卍 จึงน่าจะถูกวางให้เหมือนกับใครไม่ได้ นอกเหนือจาก Adolf Hitler แต่ตัวละครที่เหลืออีกสองคน ผู้เขียนเชื่อว่าไม่ได้เป็นส่วนที่สมมติขึ้นมา เพียงแต่ถูกระบุโดยนัยให้คล้ายกับตัวละครจริง ซึ่งต้องเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาหรือสหายของ Adolf Hitler

เริ่มจาก ガラケー (garake) ซึ่งชื่อของ garake เป็นคำย่อของคำว่า ガラパゴス化した携帯電話機 (Galapagosized mobile phone) โดยเทอมที่ใช้มาจาก Galapagos Syndrome ซึ่งนิยมกล่าวถึงในญี่ปุ่น อันหมายถึง ภาวะที่สิ่งของเป็นที่นิยมในญี่ปุ่น แต่ไม่สามารถขยายตลาดได้ในต่างแดน เช่นเดียวกับที่สิ่งมีชีวิตในเกาะ Galapagos สามารถดำรงชีวิตได้เป็นอย่างดีบนเกาะ แต่ไม่สามารถเอาตัวรอดได้เมื่ออยู่นอกเกาะ

ถ้าพิจารณาจากความหมายของชื่อ ガラケー (garake) แล้ว ผู้เขียนคิดว่าน่าจะหมายถึง Hermann Göring เนื่องจาก Hermann Göring ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เป็นผู้ที่มีอำนาจมากในเยอรมนีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในการสงครามทางอากาศ กลับไม่สามารถเอาชนะสหราชอาณาจักร และยังปล่อยให้เยอรมนีถูกโจมตีทางอากาศบ่อยครั้ง แต่ในประวัติศาสตร์ช่วงที่เกี่ยวข้องกับเค้าโครงละครนั้น Hermann Göring ถือว่ามีบทบาทในช่วง กบฎ Hitler ในการร่วมต่อสู้กับ Adolf Hitler เพื่อยึดอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ตัวละครนี้ก็อาจไม่ได้หมายถึง Hermann Göring อย่างชัดเจน ซึ่งอาจถูกตีความเป็นบุคคลอื่นได้เช่นกัน หรืออาจเป็นเพียงตัวละครสมมติก็ได้

ส่วน ハカセ (Hakase) นั้น ผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะหมายถึง คำอ่านของคำว่า 博士 ซึ่งหมายถึง Doctor of Philosophy (ปริญญาเอก/ดุษฎีบัณฑิต) และถ้าหากพิจารณาถึงบุคคลใน NSDAP ที่ได้รับปริญญาเอก ก็น่าจะเป็น Joseph Goebbels ซึ่งเป็นนักเขียนและนักพูดที่เชี่ยวชาญของ NSDAP จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโฆษณาแถลงข่าวและโฆษณาชวนเชื่อในช่วงที่ NSDAP มีอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ทั้ง ガラケー (garake) และ ハカセ (Hakase) ก็ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมอะไรไปมากกว่านี้ ดังนั้น ผู้เขียนจึงยังสรุปไม่ได้ว่า ตัวละครทั้งสองคนนี้ ถูกออกแบบหรือถูกวางมาให้สอดคล้องกับบุคคลในประวัติศาสตร์คนใด หรือเป็นเพียงละครสมมติที่ทำหน้าที่เป็นสมุนให้กับตัวละคร 卍 ซึ่งถูกวางให้เป็น Adolf Hitler เพื่อมาจัดการกับ Lily ที่ถูกวางตัวให้เป็นนักปฏิวัติ

เพื่อนร่วมชั้นเรียน - เมื่อการต่อสู้เป็นที่ยอมรับ

ในประวัติศาสตร์จริง สิ่งที่ทำให้การปฏิวัติประสบความสำเร็จได้ นั่นคือการสนับสนุนจากประชาชน ในละครเรื่องนี้ก็เช่นกัน เทอมของคำว่าปฏิวัติถูกนำมาใช้กับ Lily และสมาคมดอกไม้ เพื่อล้มล้างอำนาจของสภานักเรียน

การปฏิวัติในละครเรื่องนี้ ก็มีผู้สนับสนุนคือเพื่อนร่วมชั้นเรียน
เพื่อนร่วมชั้นเรียนของ Lily
ยิ่งไปกว่านั้น ตัวละครสนับสนุนนี้ ก็มีชื่อที่เป็นดอกไม้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสมาคมดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็น ツバキ (ดอก Camellia) ที่แสดงโดย Takahashi Ayane (髙橋彩音) หรือ アヤメ (ดอก Iris) ที่แสดงโดย Yamauchi Mizuki (山内瑞葵) 

ส่วนชื่อของ コータロー ซึ่งแสดงโดย Kusano Taisei (草野大成) น่าจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับชื่อดอกไม้ เนื่องจากเป็นตัวละครผู้ชาย แต่ใช้ชื่อของตัวการ์ตูนแทน

ในขณะที่ชื่อของคุณครูประจำชั้นอย่าง ラマン ซึ่งแสดงโดย Yokoyama Yui (横山由依) อาจถูกมองว่ามีความคล้ายกับชื่อของ C. V. Raman ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดีย แต่จริง ๆ แล้ว ชื่อนี้ยังเป็นคำทับศัพท์จากภาษาฝรั่งเศสของคำว่า  L'Amant ที่แปลว่า "คนรัก" ได้อีกด้วย 

ผู้เขียนคาดว่า ละครตั้งใจที่จะให้สื่อถึง L'Amant เนื่องจากบุคลิกของตัวละครที่ออกไปทาง erotic และมีส่วนในการสนับสนุนสมาคมดอกไม้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินเรื่องของละคร

พันธมิตรใน Tokyo - พันธมิตรนอกโรงเรียนจากชื่อเมืองจริง

หากมองในประเด็นทางประวัติศาสตร์แล้ว Novemberrevolution มีแรงสนับสนุนจากต่างชาติ ซึ่งในเวลานั้นคือรัสเซียที่เป็นบอลเชวิก (สภาโซเวียต) และมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่คล้ายคลึงกัน โดยสิ่งที่สนับสนุนนั้น ก็อาจเป็นไปได้ทั้งอาวุธ กำลังพล ที่ปรึกษา หรือแม้แต่นโยบายการต่างประเทศ

ในละคร Tokyo ถูกสื่อว่าเป็นเมืองที่อยู่ห่างออกไป และเป็นเขตที่มีอิทธิพลมาก แต่ไม่ได้มีบทบาทต่อโรงเรียนเท่าไรนัก ซึ่งเหมาะกับการใช้ชื่อนี้เป็นชื่อเมืองที่ตัวละครอาศัยอยู่ โดยผู้เขียนคาดว่า Tokyo ในละคร ถูกสื่อถึง Moscow ในประวัติศาสตร์จริง เนื่องจากอิทธิพลทางการเมืองของบอลเชวิกต่อการปฏิวัติ ซึ่งน่าจะคล้ายกับการสนับสนุนของเพื่อน Lily ใน Tokyo 

กลุ่มเพื่อนของ Lily ใน Tokyo 
แน่นอนว่า เพื่อนของ Lily ที่อยู่ใน Tokyo นั้น มีชื่อเป็นชื่อของดอกไม้ทั้งหมด
  • ミズキ (ต้น Giant dogwood) แสดงโดย Matsuoka Hana (松岡はな)
  • カスミ(ดอก Baby's breath) แสดงโดย Obata Yuna (小畑優奈)
  • リラ (ดอก Lilac) แสดงโดย Yamamoto Ayaka (山本彩加)
ในเวลานี้ ผู้อ่านจะเริ่มสงสัยแล้วว่า ทำไมชื่อของพรรคพวกของ Lily ทั้งหมด จึงใช้ชื่อเป็นดอกไม้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ที่นอกจากจะสื่อถึงผู้หญิงได้แล้ว ยังสื่อถึงแนวคิดบางอย่างได้อีกด้วย

พรรคในค่ายสังคมนิยม (แม้ว่าจะไม่ใช่คอมมิวนิสต์ที่ใช้ระบบการปกครองที่เข้มงวดกว่า แต่มีความคิดที่ตรงกันในเรื่องของความเสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจ เนื่องจากอยู่ตรงข้ามระบบทุนนิยมเหมือนกัน) ต่างก็ใช้ดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์ของพรรค เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านอำนาจนิยม นอกจากนี้ คำว่าดอกไม้ยังปรากฏในยุคของ Mao Zedong โดยเป็นโครงการ "รณรงค์ร้อยบุปผา" (百花运动) ที่ต้องการจะขยายแนวคิดสังคมนิยมไปทั่วทั้งจีนผ่านการศึกษาและการประชาสัมพันธ์

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ชื่อดอกไม้กลายเป็นชื่อของตัวละครฝ่ายที่สนับสนุน Lily ในการปฏิวัติ ด้วยเหตุผลเชิงสัญลักษณ์ และสิ่งนี้ก็สอดคล้องกับเนื้อหาในประวัติศาสตร์จริงของ Novemberrevolution ที่เป็นต้นแบบในการถ่ายทอดเรื่องราวของละคร

โรงน้ำชา I love you - จุดเริ่มต้นสมาคมดอกไม้

ก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติ ทุกอย่างย่อมมีจุดเริ่มต้น สมาคมดอกไม้ก็เช่นกัน เรื่องราวของสมาคมดอกไม้ มาจากการรวมตัวของนักเรียนในโรงน้ำชา "I love you" (アイラブユー) 
ตัวละครในโรงน้ำชา "I love you" (アイラブユー) 
ตัวละครในโรงน้ำชาประกอบด้วยเจ้าของผู้สุขุมอย่าง Master (マスター) ซึ่งแสดงโดย Denden (でんでん) และ Rin (リン) นักเรียนนานาชาติจากไต้หวัน ซึ่งแสดงโดย Ma Chia-Ling (馬嘉伶)

ผู้เขียนคิดว่า ตัวละครทั้งสองนี้อยู่ฝ่ายที่เป็นกลาง และเป็นตัวละครสมมติ เนื่องจาก หากพิจารณาประวัติศาสตร์จริงแล้ว KPD (Kommunistische Partei Deutschlands) ไม่ได้ก่อตั้งที่โรงเบียร์ แต่เป็นอาคารรัฐสภาปรัสเซีย Landtag of Prussia (Preußischer Landtag) 

สภานักเรียนก็ยังไม่ถูกยึด และเป็นสภาเดี่ยวในโรงเรียน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ละครจะวางตัวให้ก่อตั้งสมาคมดอกไม้ในอาคารสภาตามแบบ KPD นั่นจึงทำให้ละครสมมติว่าการรวมตัวเกิดขึ้นในโรงน้ำชา ซึ่งดูสมเหตุสมผลกว่า เนื่องจากขบวนการหรือกลุ่มต่าง ๆ ก็มักก่อตั้งในสถานที่ลักษณะนี้อยู่แล้ว 

ตัวละครทั้งสองก็น่าจะเป็นกลางกับ Lily และโรงน้ำชาอาจเป็นทั้งสถานที่ก่อตั้งสมาคมและวางแผนปฏิวัติใหญ่ด้วย ดังนั้น สถานที่นี้จึงเหมือนแหล่งกบดานประจำของสมาคมดอกไม้ (ราวกับเป็นกลุ่มใต้ดิน แต่ในประวัติศาสตร์จริงแล้ว กลุ่มคอมมิวนิสต์จำนวนมากก็เริ่มต้นจากกลุ่มใต้ดิน)

ความสัมพันธ์ของตัวละครต่าง ๆ ใน Majimuri Gakuen

ความสัมพันธ์ของตัวละครต่าง ๆ ในละคร จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจในเรื่องราวต่าง ๆได้ดีขึ้น และในเรื่อง Majimuri Gakuen ก็เช่นกัน หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะเข้าใจความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของละครเรื่องนี้ได้ดีขึ้น
ผังความสัมพันธ์ของตัวละครต่าง ๆ
หากดูฝั่งของสมาคมดอกไม้ จะพบว่าคำอธิบายตัวละคร เป็นดังนี้

  • Lily - นักเรียนแลกเปลี่ยนที่มาเพื่อจุดประสงค์หนึ่งโดยเฉพาะ (นั่นคือการปฏิวัติ)
  • Sumire - คุณพ่อเป็นลูกจ้างใน Goukiki Land (神埼ランド)
  • Hina - ลูกสาวมนุษย์เงินเดือนของบริษัท SME 
  • Bara - คุณแม่เปิดกิจการร้านขายสิ่งทอ
และชื่อ Goukiki (神埼) นี้ก็เป็นชื่อจริงของประธานสภานักเรียน (Kaiser) ซึ่งผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นลูกสาวของประธาน Goukiki Land เนื่องจากชนชั้นปกครองโดยมาก มักมีทั้งเงินและอำนาจอยู่แล้ว และปัจจัยดังกล่าวจะยิ่งทำให้ความเชื่อมโยงชัดเจนเข้าไปอีก

จะเห็นได้ว่า ความสอดคล้องอย่างหนึ่งของตัวละครหลักที่เห็นได้ชัดเจนของสมาคมดอกไม้ คือทั้งสามคนที่ร่วมทางกับ Lily นั้น ล้วนเป็นลูกสาวของชนชั้นแรงงานทั้งหมด (ลูกจ้าง/มนุษย์เงินเดิน/ธุรกิจขนาดเล็ก) ซึ่งเป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุดของระบอบคอมมิวนิสต์ (Bolshevik) ที่มีคุณค่าว่า "เผด็จการแห่งชนชั้นกรรมาชีพ" แน่นอนว่า Communist Manifesto ในปี ค.ศ. 1948 ที่ Karl Marx และ Friedrich Engels ได้เขียนไว้ถึงการต่อสู้ระหว่างชนชั้นแรงงานและชนชั้นนายทุน และตัวละครที่ถูกวางไว้นี้ก็ยังสื่อถึงการต่อสู้ของชนชั้น เพียงแต่เป็นการต่อสู้ของลูกสาวชนชั้นแรงงาน กับลูกสาวชนชั้นนายทุน

Lily ซึ่งผู้เขียนมองว่าถูกวางให้คล้ายกับ Rosa Luxemburg ก็มาจากการที่ตัวละครหลักนี้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน โดยต่อสู้กับสภานักเรียนที่มีชื่อเป็นภาษาเยอรมัน และยิ่งมีคำอธิบายตัวละครที่ตคล้ายกับการต่อสู้ทางชนชั้น จึงยิ่งมั่นใจในความเชื่อโยงถึงต้นแบบที่มาจาก Novemberrevolution 

บทสรุป

ในละคร Majimuri Gakuen (マジムリ学園) เป็นละครที่เปลี่ยนเค้าโครงและตัวละครใหม่ทั้งหมดให้แตกต่างจาก Majisuka Gakuen (マジすか学園) โดยมีเค้าโครงประวัติศาสตร์จริงจากเหตุการณ์ Novemberrevolution ซึ่งสังเกตได้จากสภานักเรียนและตัวละครหลักอย่าง Lily ซึ่งดำเนินเรื่องหลักของละคร และตัวละครอื่น ๆ ก็มีทั้งตัวละครที่ได้รับอิทธิพลจากตัวละครหลักทั้งสองฝั่ง และชื่อที่สมมติขึ้นเพื่อให้ดูสมเหตุสมผล หรือสนุกในแบบฉบับของละครมากขึ้น โดยผู้เขียนหวังว่าละครเรื่องนี้จะได้สะท้อนถึงการปฏิวัติดังเป้าหมายของละครได้อย่างแท้จริง

Comments

  1. ชอบมากๆครับ ได้ความรู้เยอะเลย ขอบคุณครับ :))

    ReplyDelete

Post a Comment

Popular posts from this blog

บทวิเคราะห์: เหตุผลที่ไม่มีทางที่จะได้เห็น Produce46..

Shiawase no Hogoshoku (しあわせの保護色) - กับตัวตนต่าง ๆ ของ Shiraishi Mai