48ศึกษากับบทวิเคราะห์ the series: สมมติฐานถ่ายโอนคะแนนโหวตของแฟนคลับ - ความจริงมีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น?

เนื้อหาบทความเรื่อง สมมติฐานถ่ายโอนคะแนนโหวตของแฟนคลับ - ความจริงมีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น? ได้รับไอเดียจาก Sayomphu Juito และ Saraporn Keawsiripong ผู้เขียนต้องขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

นี่คือ 1 ใน 7 บทความที่น่าสนใจสำหรับ "48ศึกษากับบทวิเคราะห์ the series" โดยเป็นบทความลำดับที่ 2

หากจะกล่าวถึง เรื่องราวของการเลือกตั้งแล้ว สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนถึงการขอคะแนนจากแฟนคลับ คือการขอคะแนนจากแฟนคลับเมมเบอร์ที่ไม่ได้ลงเลือกตั้ง เพื่อเพิ่มคะแนนให้กับตนเอง ด้วยความเชื่อที่ว่า หากมีแผ่นซิงเกิ้ลอยู่แล้ว 1 แผ่น, ใช้งานในแอปพลิเคชันมือถือ, หรือสมัครบริการเมลล์ไว้แล้ว ถ้ามีสิทธิ์ที่จะโหวตเมมเบอร์ได้ ทำไมไม่โหวตให้กับเมมเบอร์ที่ให้ความสนใจ ดีกว่าทิ้งโอกาสที่จะลงคะแนนไปแบบน่าเสียดายล่ะ

คำถามนี้ก็กลายเป็นที่มาของสมมติฐานถ่ายโอนคะแนนโหวตของแฟนคลับ ที่ผู้เขียนและใครหลายคนเข้าใจและรู้จักกัน แต่ว่า สมมติฐานนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีส่วนที่ทั้งจริง และไม่จริงในเวลาเดียวกัน ดังนั้น จึงไม่ใช่ทฤษฎีและกฎทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นสมมติฐานที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น เพื่อให้เข้าใจถึงอันดับของเมมเบอร์ที่เปลี่ยนไป และ 48ศึกษาจะมาไขข้อข้องใจกันว่า ทำไมสมมติฐานนี้จึงมีส่วนที่ทั้งถูกต้องและผิดพลาดในเวลาเดียวกัน

ที่มาของสมมติฐานถ่ายโอนคะแนนโหวตของแฟนคลับ

ในระบบของ AKB48Group นั้น เมื่อใดก็ตามที่มีเมมเบอร์จบการศึกษาออกไปในทีม นั่นคือจะต้องมีเมมเบอร์ใหม่เข้ามาแทนโดยเลื่อนขั้นจาก Kenkyusei เพื่อเข้ามาแทนในทีมจนครบ 

ในการเลือกตั้งของ AKB48Group นั้น เมมเบอร์สามารถเลือกได้ว่าจะลงหรือไม่ลง โดยขึ้นกับความสมัครใจของตัวเมมเบอร์เป็นหลัก (เพียงยื่นใบสมัครก็เป็นผู้สมัครเลือกตั้งเซมบัตสึทันที) ซึ่งแฟนคลับมีสิทธิ์ในการโหวตคะแนนผ่านการซื้อแผ่นซิงเกิ้ล หรือใช้บริการรายเดือนของแอพลิชันบนมือถือ/เมลล์/ดูสเตจสด-ย้อนหลังแบบ On-demand  

ผู้เขียนมองสมมติฐานหนึ่งข้อจากการถ่ายโอนคะแนนว่า เมื่อแฟนคลับมีสิทธิ์ในการลงคะแนน แต่เมมเบอร์ที่ชื่นชอบและอยากลงคะแนนให้นั้น ไม่ลงเลือกตั้งหรือจบการศึกษาออกไป แฟนคลับจะใช้สิทธิ์นั้นกับเมมเบอร์คนอื่น ๆ แทนเพื่อรักษาสิทธิ์

ข้อกำหนดของการจำกัดความของสมมติฐานนี้ อยู่บนการสมมติทั้งหมด 2 อย่างดังนี้
  1. สมมติว่าแฟนคลับ AKB48Group เลือกที่จะสนับสนุนวงโดยรวมผ่านเมมเบอร์ที่ชื่นชอบ เมื่อเมมเบอร์ดังกล่าวไม่ลงสมัครเลือกตั้งหรือจบการศึกษาไปแล้ว ก็หันมาสนับสนุนเมมเบอร์คนใหม่ในวงแทน
  2. สมมติว่าแฟนคลับใช้บริการรายเดือนบนมือถือซึ่งมีสิทธิ์ในการโหวตในการเลือกตั้ง และในกรณีที่ซื้อแผ่นซิงเกิ้ลเพื่อบัตรจับมือหรือรุปภาพสุ่ม ก็จะลงคะแนนด้วยตนเองทุกครั้งโดยไม่มีการโอนสิทธิ์หรือขาย
ข้อสมมติทั้งสองประการนี้ จะช่วยอธิบายการถ่ายโอนคะแนนโหวตของแฟนคลับได้เป็นอย่างดี และทำให้เข้าใจถึงคะแนนโหวตจากกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่ได้ตัดสินใจลงคะแนน ซึ่งสิ่งนี้มีทั้งข้อสนับสนุนและข้อโต้แย้งในเวลานี้ จึงทำให้สมมติฐานนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษาสำหรับการเลือกตั้งเซมบัตสึ

ข้อสนับสนุนสมมติฐาน

สิ่งที่ชัดเจนที่สุดสำหรับการถ่ายโอนคะแนนโหวตของแฟนคลับ คือการมีความสัมพันธ์บางอย่างระหว่างแฟนคลับกับเมมเบอร์ที่ชื่นชอบซึ่งไม่ได้ลงเลือกตั้งและเมมเบอร์อีกคนหนึ่งที่ประกาศลงเลือกตั้ง ความสัมพันธ์ของเมมเบอร์ทั้งสองนี้ ควรมีบางสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน นั่นคือควรเป็นตัวแทนซึ่งกันและกันในการเลือกตั้งได้

แม้ว่าเมมเบอร์คนหนึ่งหวังว่าแฟนคลับจะลงคะแนนให้ตนเอง โดยอาศัยพลังของการเป็นตัวแทนหรือผู้สืบทอดก็ตาม แต่สิ่งที่ต้องพึงพิจารณาด้วย คือการทำให้แฟนคลับรู้สึกว่า เป็นสิ่งที่คุ้มค่าในการเสียเงินเพื่อลงคะแนนให้เมมเบอร์ที่ชื่นชอบในอันดับรองลงมา (นั่นคือการหาคะแนนจากกลุ่มคนที่ไม่ใช่แฟนคลับ) ซึ่งทำได้ยากกว่าการที่เมมเบอร์ขอคะแนนจากฐานแฟนคลับของตนเองเสียอีก

ความประจักษ์ในการสนับสนุนสมมติฐานนี้ ได้แก่ การถ่ายโอนคะแนนเสียงจากแฟนคลับที่สนับสนุน Muto Tomu (武藤十夢) และ Muto Orin (武藤小麟)
Muto Tomu (武藤十夢) และ Muto Orin (武藤小麟)
ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2016 เมมเบอร์รุ่นที่ 16 ของ AKB48 ถูกประกาศขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ Muto Orin น้องสาวของ Muto Tomu เมมเบอร์ AKB48 รุ่นที่ 12 

Muto Orin ลงเลือกตั้งเซมบัตสึครั้งที่ 9 ในปี ค.ศ. 2017 เช่นเดียวกับเมมเบอร์รุ่นที่ 16 คนอื่น ๆ พร้อมกับคำว่า Kenkyusei โดยที่เธอเองนั้นก็เหมือนกับทุกคนในรุ่น การเลือกตั้งเป็นความคาดหวังที่จะทำให้ทุกคนรู้จักตัวตนของเธอเอง แม้ว่าจะเป็นเริ่มเข้าวงการก็ตาม

ในเวลานั้น พี่สาวอย่าง Muto Tomu ซึ่งติดอันดับที่ 10 ในการเลือกตั้งครั้งที่ 8 กลับไม่ลงการเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งที่ 9 เพื่อพักตัวก่อนเตรียมสู้ศึกในครั้งถัดไป ดังนั้น แฟนคลับที่สนับสนุน Muto Tomu จึงมีคะแนนเสียงที่ยังสามารถลงคะแนนให้ใครก็ได้

แต่ด้วยความที่ Muto Orin มีความสัมพันธ์เป็นน้องสาวของ Muto Tomu จึงทำให้แฟนคลับจำนวนหนึ่งมองว่า เมื่อไม่มี Muto Tomu ในช่องโหวต ก็หาอะไรที่คล้าย ๆ กันแทน และ Muto Orin ก็คือตัวเลือก 

ผลการเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งที่ 9 พบว่า Muto Orin (ที่ไม่มี Muto Tomu ในการเลือกตั้ง) สามารถติดอันดับที่ 55 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตของเธอและเป็นคนแรกในรุ่นที่ 16 ที่ติดอันดับการเลือกตั้ง

แต่ในการเลือกตั้งครั้งที่ 10 ซึ่ง Muto Tomu กลับมาลุยศึกอีกครั้ง ผลการเลือกตั้งพบว่า Muto Orin หลุด 100 อันดับแรก ซึ่งเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าคะแนนส่วนใหญ่ที่เลือก Muto Orin ในการเลือกตั้งครั้งที่ 9 มาจากแฟนคลับของ Muto Tomu ที่ต้องการสนับสนุนพี่น้องตระกูล Muto

ดังนั้น จากเหตุการณ์นี้ จึงเป็นสิ่งที่สนับสนุนถึงสมมติฐานการถ่ายโอนคะแนนโหวตของแฟนคลับ ว่ามีอยู่จริงและเกิดขึ้นใน AKB48Group

ข้อโต้โย้งสมมติฐาน

แม้ว่าสมมติฐานการถ่ายโอนคะแนนโหวตของแฟนคลับจะมีการสนับสนุนเกิดขึ้น แต่ก็มีสิ่งที่ขัดแย้งกับสมมติฐานนี้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน

ในการเลือกตั้งครั้งที่ 9 พบว่าคะแนนเสียงที่ใหญ่ที่สุด คือคะแนนเสียงของ Sashihara Rino (指原 莉乃) และ Watanabe Mayu (渡辺麻友) ซึ่งคะแนนเสียงของทั้งสองกลุ่มนี้ ควรถูกถ่ายโอนให้กับเมมเบอร์รุ่นใหม่ แต่กลับว่า แฟนคลับของทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ได้เทคะแนนสนับสนุนออกมาอย่างชัดเจนจนเป็นปรากฏการณ์ในการเลือกตั้งครั้งที่ 10

คะแนนเสียงของ Miyawaki Sakura (宮脇咲良) ที่หลายคนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังจากที่ Sashihara Rino ไม่ลงสมัครเลือกตั้ง กลับมีคะแนนเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 60,000 คะแนนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเป็นอันดับ 1 ของการเลือกตั้ง
Sashihara Rino (指原 莉乃) และ Miyawaki Sakura (宮脇咲良)
ในทางทฤษฎี หากคะแนนเสียงของ Sashihara Rino ถูกถ่ายโอนไปที่ Miyawaki Sakura จริงตามสมมติฐาน อันดับของ Miyawaki Sakura ควรเป็นที่ 1 อย่างไม่ต้องสงสัย และอาจเป็นครั้งแรกที่คะแนนเสียงอาจเกิน 300,000 คะแนน หรือแม้ว่าจะถ่ายเทคะแนนได้เพียง 50% แต่ก็เพียงพอต่อการเอาชนะ Matsui Jurina (松井 珠理奈) ด้วยคะแนนเสียงที่มากกว่า 200,000 คะแนน

แต่ในทางปฏิบัติ กลับพบว่า สมมติฐานนี้ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากคะแนนเสียงที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว อาจไม่ได้มาจากกลุ่มของ Sashihara Rino อย่างที่คาดการณ์ไว้ สิ่งนี้ยังสามารถอธิบายได้อีกว่า คะแนนเสียงของ Sashihara Rino ส่วนใหญ่ ก็อาจไม่ได้มาจากกลุ่มของ HKT48 จึงทำให้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีแฟนคลับตัดสินใจที่ไม่ได้ลงคะแนนให้กับ  Miyawaki Sakura เป็นส่วนใหญ่

ส่วนในกรณีของ Okada Nana (岡田奈々) ที่คาดหวังว่าจะตามรอย Watanabe Mayu ซึ่งเคยได้ที่ 1 ในการเลือกตั้งเช่นกัน ก็ทำอันดับเพียงอันดับที่ 5 ซึ่งคะแนนเสียงส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นของเธอนั้น ไม่ได้มาจากกลุ่มของ Watanabe Mayu ตามที่คาดหวังไว้ แต่กลับมาจากแฟนคลับของ STU48 ที่เธอควบตำแหน่งในเวลานี้อยู่
Okada Nana (岡田奈々) และ Watanabe Mayu (渡辺麻友)
จากตัวอย่างของทั้งสองกรณี ก็น่าจะชัดเจนว่า คะแนนเสียงของแฟนคลับนั้นก็ไม่ได้ถ่ายเทกันโดยง่าย เนื่องจากการโหวตแต่ละครั้งเป็นการลงคะแนนที่เสียเงิน และการเสียเงินเพื่อเมมเบอร์ที่ไม่ได้ชิบที่สุด เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยคุ้มค่าเท่าไรนัก แม้ว่าเมมเบอร์จะขอคะแนนจากกลุ่มแฟนคลับเหล่านั้นในฐานะที่จะมาสืบทอดความยิ่งใหญ่ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านก็อาจจะยังสงสัยว่า ทั้ง ๆ ที่เมมเบอร์ทั้งสองอย่าง Sashihara Rino และ Watanabe Mayu ก็ไม่ได้ประกาศว่า Miyawaki Sakura และ Okada Nana คือผู้สืบทอดของตนเองตามลำดับ หรือแม้แต่สนับสนุนให้แฟนคลับของตนเองเทคะแนนให้เป็นการเฉพาะ

นั่นจึงทำให้ข้อโต้แย้งสำหรับทั้งสองกรณีนี้ อาจดูอ่อนเกินไปจนไม่สามารถนำมากล่าวอ้างหรืออนุมานได้ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอยกกรณีที่ชัดเจนกว่านี้ในการโต้แย้งสมมติฐานนี้

โดยกรณีของการมีผู้สืบทอดอย่างชัดเจน คือ กรณีของ Yamada Nana (山田菜々) จาก NMB48
Yamada Nana (山田菜々)
สำหรับ Yamada Nana แล้ว เธอคือเมมเบอร์คนแรกที่จบการศึกษาขณะดำรงตำแหน่งควบ และมีการจัดออดิชันเพื่อหาเมมเบอร์ที่จะสืบทอดต่อจากเธออีกด้วย

การออดิชันพิเศษเพื่อสืบทอดเมมเบอร์ต่อจาก Yamada Nana เกิดขึ้นในช่วงปลายปี ค.ศ. 2014 ถึงต้นปี ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นการออดิชันที่มี Yamada Nana เป็นหนึ่งในผู้ตัดสินด้วย โดยการออดิชันนี้ นำไปสู่การก้าวเข้าสู่วงของ Uemura Azusa (植村梓)
Uemura Azusa (植村梓) และ Yamada Nana (山田菜々)
อย่างไรก็ตาม ความนิยมของ Uemura Azusa จากการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้สูงจนติดอันดับการเลือกตั้ง เหมือนที่ Yamada Nana เคยทำไว้ทั้ง ๆที่เป็นผู้สืบทอดของ Yamada Nana โดยตรงทั้งโดยความเห็นของแฟนคลับและความรู้สึกของ Yamada Nana เอง

นอกจากนี้น้องสาวของ Yamada Nana อย่าง Yamada Suzu (山田寿々) ก็ไม่เคยติดอันดับในการเลือกตั้งเหมือนกับพี่สาวของเธอเอง ทั้ง ๆ ที่เป็นพี่น้องทางสายเลือด และแฟนคลับจำนวนมากต่างก็รับรู้ถึงการเป็นพี่น้องกันของทั้งสองคนนี้ด้วย
Yamada Nana (山田菜々) และ Yamada Suzu (山田寿々) 
จากกรณีของ Yamada Nana จึงแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ขัดแย้งกับสมมติฐานถ่ายโอนคะแนนโหวตของแฟนคลับ โดยมีความสัมพันธ์ของเมมเบอร์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นจุดในการถ่ายโอนคะแนนแฟนคลับ

สิ่งที่จะทำให้สมมติฐานเป็นจริง

สมมติฐานถ่ายโอนคะแนนโหวตของแฟนคลับ มีข้อจำกัดหลายประการที่ส่งผลให้เกิดข้อยัดแย้งในประเด็นนี้ แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกมองว่าผิดเสมอไป นั่นคือจะต้องมีเงื่อนไขบางประการที่ทำให้สมมติฐานนี้เป็นจริง โดยเงื่อนไขของสมมติฐาน ผู้เขียนคาดว่ามี 2 ประการดังนี้
  1. ความสัมพันธ์ของเมมเบอร์ทั้งสองควรเป็นที่ประจักษ์จนเป็นตัวแทนให้กันและกันได้
  2. แฟนคลับสนุนเมมเบอร์ทั้งสองคนอย่างเต็มที่ 
ความสัมพันธ์ของเมมเบอร์ โดยปกติแล้ว มักหมายถึงความสัมพันธ์แบบพี่น้อง แต่ในบางกรณีก็ยังหมายถึงทายาทไอดอลทางตรง/ทางอ้อม

ความเป็นทายาททางไอดอล มีได้หลายแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการประกาศจากไอดอลโดยตรง หรือแม้แต่การหาทายาทผ่านการออดิชัน

ตัวอย่างเช่น Yamada Nana ที่มีทายาทโดยตรงผ่านการออดิชันแบบพิเศษอย่าง Uemura Azusa และยังมีน้องสาวที่เข้ามาในวงภายหลังอย่าง Yamada Suzu

หรือทายาทผ่านเซนเตอร์เพลงซึ่ง Oshima Yuko (大島優子) ก็ได้วางตัวให้ Mukaichi Mion (向井地美音) ให้เป็นเซนเตอร์คนต่อไปของเพลง Heavy Rotation (ヘビーローテーション) ก็ยังถือว่าเป็นทายาททางอ้อมอีกด้วย

แต่ความสัมพันธ์ของเมมเบอร์เท่านั้นยังไม่เพียงพอ แฟนคลับต้องเห็นด้วยกับการเป็นตัวแทนซึ่งกันและกันในการเลือกตั้งอีกด้วย ซึ่งทำได้ยากในทางปฏิบัติ เนื่องจากแม้ว่าจะมีการแชร์แอร์ไทม์บนสื่อ SNS ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็น SHOWROOM, Twitter, หรือแม้แต่ Instagram เป็นจำนวนมากครั้งอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถดึงความรู้สึกของแฟนคลับให้ชื่นชอบเมมเบอร์พร้อมกันทั้งสองคนได้  

สำหรับสมมติฐานนี้ จึงยังเป็นที่โต้เถียงในการใช้อธิบายที่มาของคะแนนเสียงในการเลือกตั้งของ AKB48Group เนื่องจากมีส่วนที่ทั้งสนับสนุนและโต้แย้ง ดังนั้น สมมติฐานนี้จึงเป็นที่จับตามองถึงข้อสนับสนุนและข้องโต้แย้งอื่น ๆ ที่อาจปรากฏขึ้น เพื่อทำให้สมมติฐานนี้มีความกระจ่างขึ้นต่อไป

บทส่งท้าย

สมมติฐานถ่ายโอนคะแนนโหวตของแฟนคลับ มีส่วนที่ทั้งสนับสนุนและโต้แย้ง ซึ่งยังต้องสังเกตกันต่อไปในอนาคตถึงสมมติฐานนี้ว่าจะถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุน หรือโต้แย้งอย่างไร 

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สมมติฐานนี้ยังไม่ได้เป็นทฤษฎีหรือกฎที่สามารถใช้ได้อย่างกว้างขวาง เพียงแต่ต้องมีข้อสังเกตที่มากพอต่อการสนับสนุนและลบล้างข้อโต้แย้งที่มีในอนาคตอีกด้วย

ตอนต่อไป

กับการนำเสนอตอนที่ 3 ของซีรี่ส์นี้ นั่นคือ Post-Miyawaki Sakura age: ใครคือเดอะแบกของ HKT48 คนต่อไป? (ไอเดียโดย Tor Nantawat) โดยจะเล่าถึงเมมเบอร์รุ่นใหม่ของ HKT48 ที่คิดว่าน่าจะมาแทนเมมเบอร์ที่ชื่อ Miyawaki Sakura ได้ในอนาคต



Comments

Popular posts from this blog

บทวิเคราะห์: เหตุผลที่ไม่มีทางที่จะได้เห็น Produce46..

Shiawase no Hogoshoku (しあわせの保護色) - กับตัวตนต่าง ๆ ของ Shiraishi Mai

Majimuri Gakuen (マジムリ学園) กับเค้าโครงประวัติศาสตร์จริง