บทวิเคราะห์: อนาคตของ BNK48 บนศรัทธาแฟนคลับ

หลังจากที่เกิดกรณีของรายการที่จะสร้างกลุ่มไอดอลชาย ได้ใช้พื้นที่ของเธียเตอร์ BNK48 ในการทำเวิร์คช็อป ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เนื่องจาก BNK48 เป็นวงบนกระแสหลักของวงการบันเทิงไทยไปแล้ว

แน่นอนว่าปฏิกิริยามีตั้งแต่ขอให้ทาง Official ออกมาแถลงและตอบคำถามที่ทุกคนคาใจ คว่ำบาตรกิจกรรมที่จัดโดย Official จนถึงประกาศเลิกสนับสนุนวงอย่างจริงจัง

ในอดีต การสร้างกระแสในเชิงลบ ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดพลาดด้วยความละอายแก่ลูกค้าหรือภาพลักษณ์ขององค์กร แต่ในวันนี้การสร้างกระแสเชิงลบซึ่งทำได้ง่ายนั้น ถูกมองโดยบางคนแล้วว่าสามารถสร้างความสนใจและกระแสได้ไม่แพ้กัน เพราะการให้ทุกคนสนใจและเสนอขายในสิ่งที่ต้องการเพื่อสร้างปรากฏการณ์ กลายเป็นสูตรสำเร็จรูปที่สามารถทำให้เกิดเป็นภาพจำและ/หรือรูปแบบที่ซึมซับเข้าไปยังผู้คนได้ง่ายและรวดเร็ว

แน่นอนว่าผลทางลบนำไปสู่กระแสได้ระยะหนึ่ง แต่ผลที่ตามมาหลังจากนี้จะเป็นที่พูดถึงกัน และผู้เขียนจะมาวิเคราะห์ถึงอนาคตของ BNK48 ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้

BNK48 กับปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในไทย

(คัดและขยายจากบทความ "48 เรื่องราวที่น่าสนใจของ AKB48 Group ในปี ค.ศ. 2018" 
https://48studies.blogspot.com/2018/12/48-stories-in-2018.html)

วงการศิลปินไทยในช่วงทศวรรษ 2550 เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากความเป็นเอกลักษณ์ที่เน้นขายด้วยตัวเพลงและการแสดง มาเป็นการนุ่งสั้นพร้อมกับเนื้อเพลงที่ล่อแหลมมากขึ้น ซึ่งศิลปินหญิงจะเติบโตได้เร็วจากรูปแบบดังกล่าว เพราะความล่อแหลมในการแต่งกายและการแสดง แต่ก็ต้องแลกมาซึ่งกระแสโต้กลับที่มองถึงความเหมาะสมและแบบอย่างให้กับเยาวชน

ในขณะเดียวกัน เน็ตไอดอลไทยก็มีจำนวนมากขึ้นทั้งแบบอย่างที่ดี และตัวอย่างที่ดังได้เพราะเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องเท่าไร อีกทั้งศิลปินจากเกาหลีใต้ก็ตีตลาดอย่างแข็งแกร่ง นั่นจึงทำให้เกิดการบุกเบิกครั้งใหม่ที่เรียกว่า "ไอดอลญี่ปุ่น" ซึ่งขาย "ความน่ารักสดใส" ของเด็กสาว (แบบไม่โป๊และสวยสมวัย) เป็นหลัก

จุดกำเนิดของวง "ไอดอล" เด็กสาวตามแบบญี่ปุ่นนั้น คงอธิบายยากมาก แต่ผู้เขียนเห็นว่าวงแรก ๆ ที่ใช้คำว่า "ไอดอล" อย่างเต็มตัว น่าจะเป็นวง "Siamese Kittenz" โดยเริ่มต้นในปี ค.ศ. 2011-2012 ก่อนที่จะเดบิวต์ซิงเกิ้ลแรกในปี ค.ศ. 2014 หลังจากรวบรวมสมาชิกได้ครบ 7 คน
(https://akibatan.com/2015/03/saimese-kittenz-special-interview/)

แต่วง "ไอดอล" เด็กสาววงนี้ ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะ influence ต่อวงการบันเทิงไทยในเวลานั้นยังไม่สูงมากพอต่อการเอาชนะวงการเพลงในกระแสหลักได้ ก่อนที่จะประกาศพักวงในปี ค.ศ. 2018 
(https://www.sanook.com/music/2400185/)

แต่ในที่สุด วง "ไอดอล" ของเด็กสาวถูกทำให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายผ่านสิ่งที่เรียกว่า BNK48 ซึ่งเป็นวงน้องสาวของ AKB48 โดยประกาศเปิดตัวเมมเบอร์รุ่นที่ 1 ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 หลังจากที่เลื่อนกำหนดการออกไป และไม่มีใครคาดคิดว่าวันนี้ BNK48 จะกลายเป็นที่กล่าวถึงไม่ใช่เพียงในไทยแต่ในหลายประเทศที่มีไอดอลแบบญี่ปุ่นอาศัยอยู่
เมมเบอร์ BNK48 ในช่วงแรกเริ่ม
(https://www.catdumb.com/ig-of-bnk48-member/)
BNK48 มีรูปแบบเดียวกับวงไอดอล AKB48 ในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นซิงเกิ้ลที่แถมบัตรจับมือ/ภาพสุ่ม, มี Photoset ขาย, มีเธียเตอร์ของวงที่แฟนคลับจะได้พบกับเมมเบอร์ โดยความสำเร็จของ BNK48 ในระยะแรก คือ influence ต่อวงการบันเทิงไทยที่สูงภายหลังจากซิงเกิ้ล Koi Suru Fortune Cookie จนเป็นที่ยอมรับในวงการบันเทิงอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย

เพราะ "ไอดอลที่คุณพบเจอได้" ทำให้ใครหลายคนหันมาติดตามไอดอลญี่ปุ่นอย่างจริงจังมากขึ้น และ "ไอดอล" ก็กลายเป็นกระแสที่สามารถเข้ามาชี้นำคนในสังคมได้ในที่สุด ซึ่ง "ไอดอล" ในที่นี้ (ไอดอลญี่ปุ่น) ก็คือ เด็ก (ส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิง) ที่มีความฝันต่าง ๆ มากมาย และต้องการโดดเด่นในโลกของความเป็นจริง ซึ่งใช้การเต้นและการร้องเป็นแนวทางในการเข้าถึงความฝันนั้น (ในขณะที่เมมเบอร์บางคนอาจมีความสามารถพิเศษอื่น ๆ) โดยแฟนคลับสามารถติดตามการพัฒนาของพวกเธอได้ตลอดเวลา ตั้งแต่ความสามารถที่ยังไม่สูงมากจนกระทั่งประสบความสำเร็จในแนวทางที่ตั้งใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นในไทยมาก่อน
เมมเบอร์ BNK48 ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2018
นอกจากนี้ พวกเธอยังสามารถใช้ชื่อวง "ไอดอล" ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในวงการบันเทิงนอกเหนือจากกิจกรรมของวง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทำโฆษณา, การแสดงภาพยนตร์, หรือพากย์เสียงในภาพยนตร์ โดยสิ่งเหล่านี้ตั้งอยู่บนการอยู่ร่วมกันทางธุรกิจ นั่นคือ รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นของธุรกิจต่าง ๆ หลังมีไอดอลมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของผลงานหรือสินค้า และไอดอลก็ได้เงินตอบแทนจากการทำกิจกรรมนั้น ๆ
เฌอปรางในภาพยนตร์ Homestay
(https://www.beartai.com/lifestyle/entertainment/237749)
เมื่อ BNK48 เข้ามาในวงการบันเทิงไทย สิ่งที่เปลี่ยนไปแน่นอน อย่างแรกก็คือวงการบันเทิงไทยมีอาชีพ "ไอดอล" ที่เป็นจุดเชื่อมของอาชีพอื่น ๆ โดยไอดอลญี่ปุ่นในที่นี้ ก็ไม่ใช่จุดสุดท้ายที่พวกเธอจะอาศัยอยู่ในวงการบันเทิง และพวกเธอก็ไม่จำเป็นที่จะต้องผันตัวเป็นศิลปินหรือนักร้องในช่วงหลังจบการศึกษา

อย่างต่อมาก็คือ การที่ธุรกิจต่าง ๆ เรียก BNK48 เป็นพรีเซนเตอร์กันอย่างล้นหลาม อย่างที่สาม ก็คือการพลิกโฉมของผู้หญิงในวงการบันเทิงจากที่เน้นนุ่งสั้นแล้วจะขายดี มาเป็นความน่ารักสดใสอย่างเป็นธรรมชาติที่สามารถตีตลาดได้

BNK48 ไม่ได้เพียงเปลี่ยนมุมมองของวงการบันเทิงที่ "ไอดอลญี่ปุ่น" กำลังจะเข้ามา influence ชีวิตคนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ยังทำให้วง "ไอดอล" สาวมีมากขึ้น เพื่อแข่งขันกับ BNK48 ที่ครองตลาดอยู่ในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็น SWEAT 16!, SY51, Cm Cafe, Fever, และ DAISY DAISY เป็นต้น
(https://www.gmlive.com/GIRLS-IDOLS-FEVER-IN-THAI)

การมาของ BNK48 ไม่ได้ทำให้วงการบันเทิงไทยเปลี่ยนไปแบบ "Heavy Rotation" แต่ทำให้สังคมไทยและสื่อต่างจับตามอง BNK48 มากขึ้น จนผู้จัดงานจำนวนหนึ่งเลือกที่จะเรียกเมมเบอร์ BNK48 เข้ามาเป็นศิลปินรับเชิญ เพื่อดึงผู้คนและแฟนคลับให้ไปร่วมงานนั้น

BNK48 กับไอดอลไทยในภาวะดิ้นรน

จริงอยู่ที่ BNK48 กลายเป็นกระแสหลักของสังคมไทยในปัจจุบัน แต่การมาของ BNK48 ทำให้วงการบันเทิงและวงการศิลปินไทยเกิดการนำรูปแบบของ BNK48 ไปปรับใช้เป็นจำนวนมากโดยหวังว่าจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับ BNK48

ความแข็งแกร่งของ BNK48 ทำให้ตลาดไอดอลมีบทบาทมากขึ้น และเกิดการแข่งขันมากขึ้นด้วยวงไอดอลเปิดใหม่จำนวนมาก ด้วยแนวคิดและคุณค่าที่แตกต่างจาก BNK48 เพียงแต่มีรูปแบบการขายที่คล้ายกัน ดังต่อไปนี้
  1. ไอดอลมี Official Fan page เป็นของตัวเอง - นอกเหนือจากการที่ Official มี Fan page ส่วนกลางเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของเมมเบอร์แล้ว เมมเบอร์เองก็สามารถโพสต์ข้อความหรือรูป เพื่อให้แฟนคลับได้ติดตามเรื่องราวต่าง ๆ 
  2. Photoset - ของสำคัญทางจิตใจที่ประเมินค่าไม่ได้ แม้ว่าราคาจะค่อนข้างไปทางแพง เพราะภาพถ่ายพร้อมรอยยิ้มของเมมเบอร์ในท่าต่าง ๆ ทำให้แฟนคลับที่ติดตามเมมเบอร์ต่างอยากเก็บไว้เป็นเจ้าของและให้ความรู้สึกที่ดีที่มีไว้เป็นเจ้าของด้วย แต่หาก Photoset นั้นคือของที่สุ่มเลือก จะยิ่งทำให้การได้ภาพของเมมเบอร์ที่ชื่นชอบยิ่งยากขึ้น และก็ต้องกลับไปซื้อเพื่อให้ได้ตามที่ต้องการ โดยการสุ่มมีตั้งแต่สุ่มเมมเบอร์ ไปจนถึงสุ่ม SSR ที่โอกาสที่จะได้ยากมาก และยิ่งพร้อมลายเซ็นอีกด้วยยิ่งเป็นไปได้น้อยมาก 
  3. การเข้าถึงเมมเบอร์ที่ยากขึ้น - ตามปกติเมื่อพบกับคนดัง การขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกหรือขอลายเซ็น เป็นเรื่องที่ปกติสามัญอยู่แล้ว แต่การมาของไอดอลนั้น ได้ทำให้การขอถ่ายรูปด้วยหรือการจับมือเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เลย โดยเฉพาะ BNK48 ที่ทั้งสองเรื่องสามารถทำได้เมื่อเปิดโอกาสผ่านการซื้อของตามที่ระบุไว้เท่านั้น 
สามข้อนี้คือสิ่งที่บ่งบอกว่า นั่นคือวงไอดอลในไทย และภายใต้ภาวะที่ BNK48 มีอายุวงมากขึ้น วงใหม่ที่เกิดขึ้นต่างก็ต้องแย่งชิงแฟนคลับเพื่อให้ผลงานสามารถขายในตลาดได้ ซึ่งนั่นคือศึกหลายด้านของ BNK48 ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

และการมาของไอดอลไม่ได้หยุดเพียงแค่การเกิดใหม่ของวงที่มากขึ้น แต่รวมไปถึงการขยายความนิยมของวงไอดอลเดิมที่มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน แต่ดูเหมือนว่า BNK48 กำลังมอบบทเรียนต่าง ๆ ให้กับวงไอดอลอื่น ๆ เช่นเดียวกัน ผู้เขียนเชื่อว่าสองประการต่อไปนี้ คือสิ่งที่ทำให้ BNK48 กำลังสั่นครอน

ประการแรก การใช้เธียเตอร์ของ Official - ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างวงไอดอลอื่น ๆ กับ BNK48 คือเธียเตอร์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ AKB48 Group ที่ได้รับมาโดยตรง และไม่มีใครกล้าลอกเลียนแบบ เพราะไอดอลวงอื่นในไทยไม่กล้าใช้เงินจำนวนมากเพื่อสร้างสถานที่ประจำที่มีต้นทุนสูงและค่าบำรุงรักษาสูงลิ่วแลกกับผลประกอบการที่ไม่สูงมากในแต่ละวัน นอกเหนือจาก BNK48 ที่ระดมเงินจากแฟนคลับผ่านสิ่งที่เรียกว่า Founding member หรือ 'บัตรดำ' 

บัตรดำนี้เป็นสิ่งที่ BNK48 ใช้ระดมเงินเพื่อสร้างเธียเตอร์สำหรับ BNK48 ทั้งเป็นสถานที่ฝึกซ้อมและขึ้นแสดง โดยมี facility ต่าง ๆ พร้อมภายใน และเป็นพื้นที่ที่เมมเบอร์สามารถเข้าไปใช้ได้โดยเฉพาะ โดยถึงแม้ว่าจะมีราคาที่สูงถึง 20,000 บาท โดยแลกกับของตอบแทนจำนวนหนึ่ง แต่แฟนคลับหลายคนเลือกจ่ายเพื่อความฝันของไอดอลเสมือนเป็นเสาหลักของเธียเตอร์

หากใครติดตาม AKB48 Group มาก่อน BNK48 จะทราบถึงธรรมเนียมในส่วนของเธียเตอร์เป็นอย่างดี ส่วนประเด็นของความขลังนั้น เกิดจากเรื่องราวดี ๆ ที่สั่งสมมาอย่างนาน ความพยายามของเด็กสาวที่แกร่งกล้าตลอดชีวิตในการเป็นไอดอล กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำและน่าสนใจอย่างมาก ทำให้เธียเตอร์นั้นเป็นแหล่งที่ปั้นดาวดวงใหม่ ๆ ในวงการบันเทิงจำนวนมาก

ความขลังของเธียเตอร์เอง คือมนต์เสน่ห์ทำให้ AKB48 Group เป็นที่รู้จักและทำให้เกิดดาวดวงใหม่ ๆ ในโลกบันเทิงจำนวนมาก แต่การใช้เธียเตอร์ที่เกิดจากทุนสร้างของแฟนคลับในวันแรกเริ่มของ Official ไปในทางอื่นนอกเหนือจาก BNK48 เป็นที่แสดงให้เห็นว่า เสน่ห์ของ BNK48 กับพื้นที่ของ BNK48 ได้หายไปแล้ว เพราะกลายเป็นว่าใครก็สามารถเข้ามาใช้ได้ ไม่ได้เฉพาะกับ BNK48 อีกต่อไป

ภาพจำของแฟนคลับเกิดขึ้นไปแล้ว แฟนคลับพูดถึงกันไปแล้ว จริงอยู่ที่ความขลังของเธียเตอร์อาจจะกลับมาด้วยตัวเธียเตอร์เองที่เมมเบอร์ใช้งานและขึ้นแสดงเรื่อย ๆ หลังจากนี้ แต่เมื่อความศรัทธาและการสนับสนุนหมดลง นั่นคือสิ่งที่ทำให้ความขลังของเธียเตอร์เสื่อมลง

ประการที่สอง การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของ Official - หากเป็นร้านอาหารที่สั่งอาหารแล้วได้อาหารช้า การที่ลูกค้าจะบ่นหรืออารมณ์เสียก็เป็นปฏิกิริยาที่ธรรมดาอยู่แล้ว หากเป็นร้านค้าที่คนสั่งสินค้าก่อนกลับได้ของทีหลัง การก้มหน้าไหว้ขอโทษลูกค้าที่เดือดดาลเป็นไฟก็คงเป็นตัวเลือกที่ต้องทำ หรือหากเป็นบริการที่ไม่ได้ตามที่แจ้งไว้ หรือเกิดความผิดพลาด การเทศนาของลูกค้าพร้อมกับการพูดต่อในแง่ลบย่อมเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน 

สำหรับ BNK48 แล้ว ต่อให้ Official จะส่งของช้าในหลายครั้ง หรือมีประเด็นกล่าวถึง Official ในงานอีเวนต์ต่าง ๆ เหล่าแฟนคลับก็พร้อมที่ยังสนับสนุนเมมเบอร์ให้ไปถึงฝั่งฝันและความสำเร็จ โดยก้าวข้ามเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ แต่สิ่งเหล่านี้ก็คือระเบิดเวลาที่พร้อมจะนับสู่เลขศูนย์ หากชนวนตัวสำคัญถูกจุดขึ้น และแฟนคลับเหล่านี้พร้อมที่จะหันหลังอย่างไม่ลังเลด้วยปัญหาที่สั่งสมเหล่านี้เป็นข้อสนับสนุน

ผู้เขียนมองว่า ปัญหาที่ Official ขอโทษแล้วจัดการให้ของฟรีหรือของเสริมต่าง ๆ เป็นการขอโทษ กำลังกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการแก้ไขปัญหาองค์กรในอนาคต จริงอยู่ที่การให้ของชดเชยทำให้ความโกรธของแฟนคลับสยบลงไปได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่สาเหตุอย่างการจัดการและระบบการทำงานกลับไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ความผิดพลาดเกิดขึ้นซ้ำซากเช่นเดิม และแก้ไขปัญหาด้วยรูปแบบเดิม ๆ วนไปมา

อย่างไรก็ตาม ต้นตอของความผิดพลาดนี้ ทำให้เกิดบทเรียนสองอย่างที่ควรนำไปใช้ นั่นคือ การวางแผนระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำในองค์กรแม้ว่าในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาไม่ได้ก็ตาม และความพร้อมในทุกด้าน ซึ่งการทำให้ทุกอย่างพร้อม แม้ว่าจะล่าช้าในการจัดเตรียมก่อนเปิดเผยให้โลกภายนอกรับรู้ แต่ก็ยังดีกว่าล่าช้ากับลูกค้าจนเป็นความขุ่นเคืองและกระแลลบ 

ในขณะที่เมมเบอร์ BNK48 ยังอยู่ในวงเพื่อความฝันและความสำเร็จ แฟนคลับหลายคนพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่เพราะการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพและประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น กำลังจะทำให้แฟนคลับที่จะสนับสนุนเมมเบอร์คนใหม่หลังจากเมมเบอร์คนก่อนหน้าที่สนับสนุนจบการศึกษาเกิดขึ้นได้น้อยมาก ๆ ซึ่งแฟนคลับที่ผูกพันกับเมมเบอร์ก็ยังผูกพันกับวงที่ทำให้ได้รู้จักเมมเบอร์ด้วย โดยการติดตามเรื่องราวใหม่ ๆ ของเมมเบอร์อีกคนก็เป็นความสนุกในอีกแบบของการติดตามวงไอดอล 

แฟนคลับกับสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

หลังจากที่เกิดประเด็นในการใช้เธียเตอร์ และการแถลงของ Official ที่ไม่สามารถสร้างความกระจ่างให้กับเหล่าแฟนคลับ ทำให้เกิดคำถามหนึ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในตอนนี้ ก็คือ "จะทำอย่างไรต่อไป?" 

เมมเบอร์อยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของแฟนคลับ โดยมี Official เป็นผู้จัดการ การสนับสนุนเมมเบอร์ผ่านการซื้อสินค้าย่อมผ่านมือของ Official ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปชมในเธียเตอร์ การซื้อแผ่นซิงเกิ้ล หรือสินค้าทั่ว ๆ ไปที่ออกมาเป็นจำนวนมาก แน่นอนว่าประเด็นล่าสุด แฟนคลับมีความตั้งใจที่แสดงพลังเพื่อต่อกรกับ Official แต่แนวทางที่จะกระทำยังไม่มีความชัดเจน โดยผู้เขียนให้ความเห็นไว้ดังนี้ 

สภาพของแฟนคลับในวง ประกอบด้วยบ้านต่าง ๆ ซึ่งบ้านในที่นี้ หมายถึงกลุ่มแฟนคลับที่สนับสนุนเมมเบอร์แต่ละคน โดยใช้การสนับสนุนเมมเบอร์คนเดียวกันเป็นอุดมการณ์ในการก่อตั้งบ้าน ซึ่งแต่ละบ้านก็มีตัวแทนเพื่อดูแลการจัดการและการสนับสนุนเมมเบอร์ แม้ว่าในทางปฏิบัติ การสนับสนุนเมมเบอร์สามารถทำได้โดยไม่ต้องผ่านบ้านต่าง ๆ แต่บทบาทของบ้านนำไปสู่การพบปะผู้ร่วมอุดมการณ์ที่ง่ายขึ้น ซึ่งนี่น่าจะเป็นอัตลักษณ์ของ BNK48 ที่ทำให้เกิดกลุ่มก้อนแฟนคลับที่ทรงพลังภายใต้ความหลากหลาย 

บ้านแฟนคลับเองก็มีบทบาทสำคัญนอกเหนือจากการรวมตัวของแฟนคลับที่ชอบเมมเบอร์คนเดียวกันแล้ว ก็ยังมีส่วนในการสนับสนุนในการเลือกตั้งผ่านการบริจาคเพื่อโหวตในการเลือกตั้งเซมบัตสึ ซึ่งผ่านพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพจากการเลือกตั้งเซมบัตสึครั้งที่ 10 ของ AKB48 Group ที่สามารถผลักดันเฌอปรางและมิวสิคให้ติด 100 อันดับแรกได้สำเร็จ ถึงแม้ว่าจะเป็นรองด้วยหลายปัจจัยก็ตาม นอกจากนี้บ้านแฟนคลับยังเป็นตัวกลางในการสนับสนุนกิจกรรมของแฟนคลับให้เกิดขึ้น ดังนั้นบทบาทของบ้านแฟนคลับต่อวงเองก็มีค่อนข้างสูง

แม้ว่าบ้านแฟนคลับจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนเมมเบอร์และวง แต่การรวมตัวกันระหว่างบ้านแฟนคลับกลับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยมาก นอกเหนือจากกรณีการใช้เธียเตอร์ในครั้งล่าสุดนี้ ซึ่งทำให้เกิดแนวทางที่เป็นเอกภาพมากขึ้นในการแสดงพลังเพื่อเรียกร้องความชัดเจนจาก Official 

หลายคนมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า พร้อมสนับสนุนเมมเบอร์ต่อไป แต่จะยกเลิกการสนับสนุน Official ทุกช่องทาง แต่วิธีใดที่จะบรรลุผลมากที่สุดโดยกระทบกับเมมเบอร์น้อยที่สุด เพราะแฟนคลับเองก็ยังต้องสนับสนุนเมมเบอร์ผ่านกิจกรรมของวง ไม่ว่าจะเป็นตัวแฟนคลับเอง หรือบ้านแฟนคลับ ต่างก็มีคำถามพื้นฐานนี้

หลายคนมองว่า Official กำลังใช้เมมเบอร์เป็นตัวประกันเพื่อให้สนับสนุนวงและ Official ต่อไป ซึ่งมุมมองนี้ได้รับการสนับสนุนจากการที่แฟนคลับหลายคนหันหลังให้กับวง หลังจากที่เมมเบอร์ที่สนับสนุนจบการศึกษาไปแล้ว แต่ก็มีแฟนคลับหลายคนตัดสินใจเลิกซื้อสินค้าจาก Official แม้ว่าเมมเบอร์จะมีส่วนในการโปรโมตก็ตาม 

จุดที่ทำให้เกิดสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้ ก็คือช่วงที่เกิดปัญหาอยู่ในช่วงการเลือกตั้งเซมบัตสึพอดี ซึ่งเป็นจุดที่การโหวตสนับสนุนเมมเบอร์ มีผลต่อผลประกอบการของ Official อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเดินหน้าหรือถอยหลัง ไม่ได้มีผลต่อท่าทีของ Official เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่ออันดับของเมมเบอร์อีกด้วย 

ย้อนกลับไปที่นิยามของคำว่า "ไอดอล" ที่ BNK48 นำมาใช้ เป้าหมายของการเป็นไอดอล ไม่ใช่การเป็นไอดอลในวงตลอดไป แต่คือการบรรลุความฝันสูงสุดในอาชีพไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ผู้ประกาศข่าว นักร้อง หรือแม้แต่อาชีพอื่น ๆ นอกโลกบันเทิง 

แต่จุดที่ทำให้แฟนคลับและไอดอลไม่สามารถมองถึงจุดสูงสุดของอาชีพตรงนี้ได้ เพราะสภาพของโลกบันเทิงของไทยเองไม่ได้เปิดช่องให้สามารถทำอาชีพนั้น ๆ ได้เป็นการเฉพาะ ศิลปินดาราเองต่างก็ลงมือทำธุรกิจขายสินค้า และภาวะซบเซาของตลาดบันเทิง ทำให้เกิดละครต้นทุนสูงหรือรายการที่มีประวัติยาวนานได้ยากมาก ๆ นั่นจึงทำให้การเป็นไอดอลของไทย คืออาชีพสูงสุดที่หาปลายทางความฝันได้ยากกว่าการเป็นไอดอลญี่ปุ่นที่อาชีพหลังจากไอดอลยังสามารถทำมาหากินในโลกบันเทิงต่อไปได้เรื่อย ๆ 

อันที่จริง ผู้เขียนคาดว่า การมาของไอดอลอย่าง BNK48 กำลังจะคืนชีพวงการบันเทิงไทยผ่านการมีส่วนร่วมของไอดอลบนกิจกรรมในโลกบันเทิง แต่ดูเหมือนว่าการมีส่วนร่วมนี้น้อยกว่าสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นละครที่มีเมมเบอร์เป็นดารารับเชิญ การแสดงละครเวที หรือรายการวาไรตี้ประจำ (ที่ตอนนี้ก็หลุดจากผังโทรทัศน์ไปแล้วโดยไม่มีรายการใหม่เข้ามาทดแทนแต่อย่างใด) 

นั่นจึงทำให้แฟนคลับหลายคนเชื่อว่าอนาคตของเมมเบอร์หลังจากจบการศึกษาอาจดูไม่สวยงามเท่ากับตอนที่ยังเป็นเมมเบอร์ แม้ว่าในใจของแฟนคลับเองก็เห็นว่าการจัดการของ Official ไม่ได้มีประสิทธิภาพที่ดีขนาดนั้นก็ตาม

สภาวะดังกล่าวนี้ทำให้เกิดจุดยืนที่แตกต่างกันออกไปโดยแบ่งเป็นสามทางหลัก ๆ ดังนี้
  1. ยังคงสนับสนุนเมมเบอร์ต่อไปแม้ว่าจะต้องเลี่ยงการสนับสนุน Official ให้ได้มากที่สุดก็ตาม - เพื่อสนับสนุนความฝันของเมมเบอร์ต่อไป สินค้าหลายตัวที่ไม่จำเป็นอาจจะไม่ได้ซื้อ แต่หากสิ่งเหล่านั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ก็ยังสนับสนุนซื้อต่อไปในปริมาณที่น้อยลง
  2. เพราะเมมเบอร์ที่สนับสนุนจบการศึกษาไปแล้ว จึงไม่ต้องมีอะไรที่ค้างคากับ Official และวงอีกต่อไป - หลายครั้งที่แฟนคลับเลือกสนับสนุนไอดอลคนถัดไปโดยเชื่อว่าวงจะปั้นดาวดวงใหม่มาเป็นกำลังของวง แต่เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ก็ย่อมไม่ลังเลที่จะถอยได้อย่างไม่กังวลใจ
  3. ถึงจะต้องหักดิบ แต่ขอถอยออกมายืนสนับสนุนเมมเบอร์ห่าง ๆ ดีกว่า - การสนับสนุนเมมเบอร์โดยไม่ผ่าน Official ทำได้ยากมาก ดังนั้นเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น การถอยออกมาอาจเป็นสิ่งที่ดีกว่าในตอนนี้ก็ได้
แต่ไม่ว่าจะไปในทางใด สิ่งที่ส่งผลแน่นอน คือความนิยมของวงที่กำลังเสื่อมถอยลงจากภายใน และการกู้วิกฤตศรัทธาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

ทางออกของ BNK48 

เพราะปัญหาต้องการทางออก ดังนั้นทางเลือกที่มีอยู่ในเวลานี้ของ BNK48 ก็ประกอบไปด้วยดังนี้

ทางเลือกแรก BNK48 ที่เปลี่ยนเจ้าของ - BNK48 ตอนนี้มีทั้งเธียเตอร์ มีความนิยม และมีฐานแฟนคลับขนาดใหญ่ การขายออกไปดังเช่นเดียวกับกรณีของ SKE48 ที่ AKS ถ่ายโอนไปยัง KeyHOlder จึงดูเป็นไปได้

ปัญหาที่สำคัญสองประการ คือ ต้นสังกัดเดิมจะยอมทิ้งบ่อเงินบ่อทองนี้หรือไม่ และใครจะเข้ามารับช่วงต่อ ซึ่งภายใต้ภาวะนี้ บริษัทที่มีทุนสูงเพียงไม่กี่แห่ง อาจไม่กล้าลงเงินเพื่อกู้วิกฤตให้กับ BNK48 เพราะอาจดูไม่คุ้มกับโลกบันเทิง และอาจบริหารได้ไม่ดีเท่าที่ควรจากการขาดบุคลากรที่มีประสบการณ์

แม้ว่า BNK48 เองคือธุรกิจในโลกบันเทิงของไทยเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถทำผลประกอบการในระดับที่พออยู่รอดได้ แต่เมื่อขาดคู่แข่งที่น่าเกรงขามมากพอในการต่อกรและแข่งขันด้วย อีกทั้งตัวเลือกที่ภาคธุรกิจใช้ศิลปินโปรโมตสินค้ามีไม่เยอะมากและไม่ดึงดูดในการลงทุน ทำให้การซื้อช่วงต่อโดยกลุ่มทุนในไทยเองคงทำได้ยาก

ทางเลือกที่สอง AKB48 Team BK - เช่นเดียวกับกรณีของ AKB48 Team TP จาก TPE48 ที่ AKS เลือกเข้าดูแลโดยตรงเพื่อให้ความเป็น AKB48 Group ยังคงอยู่ต่อไป 

แต่การจะทำตรงนี้ได้ ต้องอาศัยสองปัจจัยหลัก คือปัญหาภายในของ Official เองที่ยากเกินกว่าแก้ไขด้วยตนเอง และการละเมิดสัญญาอย่างร้ายแรงจนต้องตัดขาดออกจาก AKB48 Group 

AKS มีส่วนอยู่ในผู้ถือหุ้นของ BNK48 ซึ่งก็มีส่วนในการสนับสนุนการตัดสินใจบ้าง แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า AKS จะมีท่าทีเข้ามาจัดการเรื่องนี้อย่างไร เพราะ AKS กำลังจะแปลงสภาพกลายเป็น Vernalossom ที่จะหันหลังให้กับ AKB48 Group
(https://aks-corp.com/news20200120.html)

ดังนั้นในช่วงเวลาที่เหลือนี้ AKS จะไม่ได้โฟกัสแล้วว่า BNK48 จะมีสถานการณ์กับแฟนคลับอย่างไร แต่ให้จับตาท่าทีของผู้ถือหุ้นจากฝั่งญี่ปุ่นที่เข้ามาแทน AKS ซึ่งทำให้ช่วงเวลานี้ กระแสที่ว่าจะเกิด AKB48 Team BK คงเป็นไปได้ยาก เว้นเสียแต่ว่าหลังจากนั้น ท่าทีของฝั่งญี่ปุ่นหลังพ้นมือ AKS จะเปลี่ยนไปและหาประเด็นที่ทำให้ BNK48 มีเส้นทางคล้ายกับ SNH48

BNK48 ไม่น่าจะตกม้าตายด้วยเรื่องของการเงินเหมือนกับ TPE48 แต่อาจจะมาพลาดตรงเรื่องอื่น ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้ว Official ก็น่าจะรู้ว่า SHN48 มีจุดจบแบบไหน แต่การก่อตั้ง CGM48 ในเชียงใหม่ก็เป็นความเห็นชอบจาก AKS ด้วย นั่นจึงไม่ใช่ปัญหา แต่ประเด็นการนำวงภายใต้การดูแลของบริษัทจัดการบริษัทเดียวกัน แต่ไม่ใช่ AKB48 Group เข้าใช้เธียเตอร์อาจไม่ได้มีน้ำหนักที่แรงพอจนทำให้ฝั่งญี่ปุ่นเข้ามาจัดการเอง ดั่งเช่นกรณี SNH48 หรือ TPE48

แม้ว่ากรณีนี้จะเล่นกับความรู้สึกของแฟนคลับ แต่ต้องคำนึงด้วยว่า Official มีบทเรียนจาก SNH48 แล้ว และการพยายามปกปิดไม่ให้ฝั่งญี่ปุ่นรับรู้อาจสร้างผลกระทบแน่นอน แต่จะมากพอจนเข้ามาจัดการเองหรือไม่นั้น ผู้เขียนมองว่ายังไม่ชัดเจนพอจนต้องตั้งวงใหม่เข้ามาสู้ในตอนนี้ อีกทั้งสถานการณ์ของ AKS เองก็ไม่ได้เป็นใจที่จะลงมืออีกด้วย

และปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ชัดเจนจากกรณีของ AKB48 Team SH คือการขยายตัวของฐานแฟนคลับในจีน และการต่อกรกับ SNH48 เดิม ยังไม่แข็งแกร่งพอ ดังนั้น ในด้านของ AKS เองจึงยังมองว่าไม่คุ้มในการลงมือทันที

ทางเลือกที่สาม ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่แฟนคลับน้อยลง - ในขณะที่คู่แข่งกำลังเสริมความนิยม แต่ยังไม่สามารถเข้าสู่กระแสบันเทิงหลักได้ และทางเดินของเมมเบอร์หลังจากจบการศึกษายังไม่สดใสพอต่อการเดินต่อไปในโลกบันเทิงของไทย เลยทำให้ BNK48 ยังคงไร้เทียมทานแม้ว่าจะเกิดปัญหาซ้ำซากไปแล้วก็ตาม

ในขณะที่มีการออดิชั่นเมมเบอร์รุ่นที่ 3 เพื่อเสริมวงให้มีจำนวนที่มากขึ้น เมมเบอร์รุ่นก่อนหน้าก็ทยอยจบการศึกษาออกไปเรื่อย ๆ และการจบการศึกษานี้ ทำให้แฟนคลับค่อย ๆ หายไปแบบไม่ดึงกลับมาไม้ได้ โดยการประเมินของผู้เขียน มองว่าฐานแฟนคลับของเมมเบอร์รุ่นที่ 3 จะมาจากแฟนคลับเป็นส่วนมาก ส่วนฐานแฟนคลับใหม่ที่ต้องการขยายอาจมีบ้าง แต่ไม่น่าชดเชยกับฐานเดิมที่หายไปได้

นั่นจึงทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่ฐานเสียงจะลดลงและถูกกระจายไปยังวงไอดอลอื่น ๆ มากขึ้น และภาวะขาลงของฐานแฟนคลับนี้ อาจส่งผลต่อพื้นที่สื่อในระยะยาว หากไม่สามารถกอบกู้ภาพลักษณ์ หรือซุกปัญหานี้ใต้พรมไว้อีก เพื่อรอวันระเบิดในอนาคตข้างหน้า

แต่การรับรู้ของ Official ที่แน่นอน คืออย่างน้อยแล้ว เธียเตอร์ต้องไม่ให้ใครนอกจาก BNK48 ใช้เป็นอันขาด ส่วนความผิดจะเกิดขึ้นซ้ำสองหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการจัดการของ Official ในอนาคต เพียงแต่ความผิดครั้งที่สอง จะทำให้การสนับสนุนของแฟนคลับลดลงมากกว่าครั้งแรกแน่นอน..

หลังจากนี้ หลายคนยังสนับสนุนเมมเบอร์เพื่อความฝันต่อไป แม้ว่าจะมีปัญหา แต่ก็เลือกเฉพาะเมมเบอร์ที่รักและให้การสนับสนุนในปัจจุบันเช่นเดิม นั่นแสดงให้เห็นว่าการจบการศึกษาของเมมเบอร์ กำลังจะลดจำนวนแฟนคลับเดิมไปเรื่อย ๆ และวงจะค่อย ๆ เข้าสู่ ๆ ขาลง แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นวงแตก แต่ก็ไม่อาจกลับมายิ่งใหญ่เหมือนแต่ก่อนได้ ปลายทางจะคล้าย ๆ กับ Morning Musume ในวันนี้..

บทส่งท้าย

การให้ความเห็นของผู้เขียนในกรณีของ BNK48 เป็นครั้งแรกที่ได้ทำออกมา แต่อาจต้องพึ่งวิจารณญาณของผู้อ่านเป็นส่วนมากด้วย เพราะบทความนี้ไม่ได้เป็นข้อเท็จจริงหรือการชี้นำสังคม เพียงแค่นำเสนอความเห็นและการวิเคราะห์ของผู้เขียนเท่านั้น โดยหลังจากนี้อาจเขียนถึง AKB48 Group และ Sakamichi Series ในญี่ปุ่นเป็นส่วนมากแทน

Comments

Popular posts from this blog

บทวิเคราะห์: เหตุผลที่ไม่มีทางที่จะได้เห็น Produce46..

Shiawase no Hogoshoku (しあわせの保護色) - กับตัวตนต่าง ๆ ของ Shiraishi Mai

Majimuri Gakuen (マジムリ学園) กับเค้าโครงประวัติศาสตร์จริง