Case Study (3) - ว่าด้วยเรื่องของการไดเอทที่ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด

สิ่งหนึ่งในชีวิตของการเป็นไอดอลที่พึงมีเพื่อเป็นเสน่ห์และความได้เปรียบในอาชีพ นั่นคือความสวยงามและหุ่นที่ดี เพราะการถ่ายรูปคือสิ่งที่ไม่มีทางหลีกหนีได้ ไม่ว่าจะเป็นชุดปกติ หรือชุดขึ้นแสดง แต่เรื่องของหุ่นที่ดีนั้นจะยิ่งถูกแสดงให้ชัดเจนขึ้นเมื่อต้องถ่ายรูปในชุดว่ายน้ำ หรือเสื้อกล้าม

แต่สำหรับบางคนนั้น สัดส่วนในร่างกายอาจกลายเป็นปัญหาต่อการเป็นไอดอลเสียเอง แม้ว่าจะไม่ได้มีผลมาก หากมีความมั่นใจในเรื่องการร้องเพลงหรือการเต้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องรูปร่างของไอดอลเอง ก็อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ถูกล้อเลียนหรือ "bully" จากกลุ่มคนบางคนที่ไม่ประสงค์ดีก็เป็นได้ และส่งผลไปถึงสภาพจิตใจด้วยเช่นกัน

ดังนั้น ไอดอลบางคนจึงเลือกทำการควบคุมอาหารหรือไดเอท เพื่อลดน้ำหนักและต้องการรูปร่างดังพึงปรารถนา และมีความสุขกับการเป็นไอดอลต่อไป

แต่การไดเอท ไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจให้มากก่อนทำการไดเอท เพราะหากทำการไอเดทอย่างผิดวิธี ผลเสียจะเกิดขึ้นตามมา ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำหนักที่กังวล แต่รวมไปถึงสภาวะทางจิตใจและสภาวะทางร่างกายที่จะตอบสนองต่อความผิดพลาดนี้จนรุนแรงไปกว่าเดิม และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับไอดอลจาก STU48 อย่าง Sakaki Miyu (榊美優)

* บทความนี้เป็ตัวอย่างของการไดเดทอย่างไม่ถูกวิธี และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นไปตามที่หลักวิชาการได้อธิบายไว้แล้ว ดังนั้นจึงเป็นทั้งเรื่องของไอดอลและเรื่องของวิทยาศาสตร์สุขภาพ และขอเน้นย้ำว่า "โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน"

Sakaki Miyu กับเรื่องราวของการไดเอท

Sakaki Miyu เป็นไอดอลจาก STU48 รุ่นที่ 1 ซึ่งตอนนี้อายุ 18 ปีแล้ว ซึ่งตอนนี้ STU48 ก็ผ่านมา 3 ปีแล้ว ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมากับ 4 ซิงเกิ้ล มีโอกาสติดเซมบัตสึเพียงแค่ซิงเกิ้ลที่ 3 ในชื่อ Daisuki na Hito (大好きな人) เท่านั้น
Sakaki Miyu
Sakaki Miyu
(https://www.stu48.com/feature/sakaki_miyu) 
Sakaki Miyu ยังมีช่อง YouTube เป็นของตัวเองในชื่อ CUCA (くーか) อีกด้วย ซึ่งเนื้อหามีตั้งแต่ของกิน เมคอัพ ไปจนถึงการฝึกเต้น 

ในวันที่ 4 มิถุนายน Sakaki Miyu ได้ทวิตข้อความยอมรับถึงเรื่องน้ำหนักไว้ว่า
"โอเค ฉันจะบอกความจริงก็ได้ค่ะ..
ถึงแม้ว่าจริง ๆ แล้วฉันจะควรจะบอกหลังออกจาก STU48 ไปแล้วก็เถอะ..

ในช่วงที่เข้า STU48 น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 42 กก.
ในช่วงปีแรก ฉันถูกให้ไปลดน้ำหนัก และน้ำหนักก็ลดไปจนถึง 36 กก. ก่อนฤดูร้อนในปีแรกที่เข้ามาในวง
ถึงกระนั้น ฉันแทบจะไม่ได้กินอะไรเลย"
(https://twitter.com/CUCA_cheese0428/status/1268504886443827200)

"ไม่ว่าจะเป็นช่วงไปโรงเรียนหรือช่วงทำงานที่ยุ่งมาก จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน แต่ปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวันก็ไม่เกิน 1 ถ้วยชา(茶碗, เป็นถ้วยชาที่ใช้ในพิธีชงชา แต่ก็ยังมี chawan สำหรับใส่ข้าวเช่นกัน)
แม้ว่าคุณแม่จะบอกให้ฉันหยุดทำเรื่องนี้ (ไดเอท) ก่อนที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ แต่ฉันก็ไม่หยุด
พอมาคิดได้ตอนนี้แล้ว ก็ดูแปลก ๆ เหมือนกัน
การไดเอทแบบผิด ๆ นี้ทำให้จิตใจและร่างกายผิดปกติไปหมด"
(https://twitter.com/CUCA_cheese0428/status/1268505027892535303)

"หลังจากนั้น ช่วงฤดูใบไม้ผลิในปีถัดมา เพราะความเครียดและการกินที่มากเกินไปจึงทำให้น้ำหนักขึ้นไปถึง 48 กก.
ไม่ว่าจะกินอะไร ก็ยังคงอยู่ตรงนั้น ยังเป็น 48 กก. ที่ห่างไกลจาก 42 กก.

ฉันหยุดกินไม่ได้เลยหลังจากได้กินคำแรกไปแล้ว
และยังมีความรู้สึกที่กินแบบไม่รู้รสชาติ จนกินไปร้องไห้ไป
และมีช่วงเวลาที่อาเจียนในขณะที่ทำงานอีกด้วย"
(https://twitter.com/CUCA_cheese0428/status/1268505244608065537)

"เมื่อไรที่ฉันไม่ได้อาเจียนออกมา พอได้เห็นท้องที่ยื่นออกมาแล้วก็รู้สึกว่าอยากตาย หรือกลัวกับการกินที่มากเกินไปในช่วงก่อนวันทำงานเพราะกังวลว่าในเรื่องของชุดที่ใส่
และจนถึงตอนนี้ก็ยังฟื้นฟูได้ไม่เต็มที่เลย

ทั้งหมดนี้ นี่คือสิ่งที่อยากจะบอก หากพยายามจะลดน้ำหนักด้วยวิธีแปลก ๆ ผลลัพธ์ที่อาจลงเอยด้วยความเจ็บปวด"
(https://twitter.com/CUCA_cheese0428/status/1268505404876546049)

"แน่นอนว่าการลดน้ำหนักทำให้มั่นใจในตัวเอง ทำให้น่ารัก และมีความสุขในตัวเอง
ตอนนี้ ถ้าหากยังไอเดทด้วยวิธีเหล่านี้ อยากให้ลองคิดสักนิดนึง.."
(https://twitter.com/CUCA_cheese0428/status/1268505517502021632)

จากที่ Sakaki Miyu ได้ทวิตข้อความไปนั้น ทำให้ผู้เขียนสามารถสรุปได้สองประการดังนี้
  1. Sakaki Miyu ตัดสินใจลดน้ำหนักหลังจากเข้ามาในวงด้วยการ "กินอาหารในปริมาณที่น้อยมากในแต่ละวัน"
  2. Sakaki Miyu กลับเผชิญปัญหาในการกินที่มากเกินไปหลังจากนั้นจนน้ำหนักกลับมาขึ้นอีกครั้ง และตามมาด้วยปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต และภาวะในการกิน

คาดเดาเหตุและผลของการไอเดทนี้

จากเรื่องราวที่ได้อ่านมานั้น ผู้เขียนเชื่อว่าอาจมีอาการที่คล้ายกับ Anorexia nervosa ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในการกิน (eating disorder) 

หนึ่งในปัญหาที่สำคัญจากการเผชิญ Anorexia nervosa คือการที่คนรอบข้างแนะนำให้ลดน้ำหนัก หรือถูกมองว่าอ้วน ทั้ง ๆ ที่ค่า BMI ปกติ (ดังนั้นหากใครบอกว่าให้ลองประมาณค่าด้วยตาเปล่า ก็โปรดดูเรื่องค่า BMI กับการถูกทักว่าอ้วนเป็นตัวอย่าง..)

ค่า BMI หรือ ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) เป็นค่าที่ใช้วัดภาวะอ้วน โดยสามารถคำนวณได้จาก น้ำหนัก (ในหน่วย กก.) หารด้วยส่วนสูงกำลังสอง (ในหน่วย เมตร) 

จากข้อมูลของ Sakaki Miyu ในช่วงแรกที่เข้ามายังวง พบว่า เธอมีน้ำหนัก 42 กก. และมีส่วนสูง 151 ซม. ทำให้ค่า BMI อยู่ที่ 18.4 ซึ่งจากค่าที่ญี่ปุ่นนิยมใช้นั้น ถือว่า "น้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน"
(https://keisan.casio.jp/exec/system/1161228732
https://matome.naver.jp/odai/2137769542425845601)

แต่การที่เธอลดน้ำหนักเหลือ 36 กก. และสมมติว่าส่วนสูงยังเท่าเดิม ค่า BMI จะอยู่ที่ 15.8 ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานมากกว่าเดิมอยู่แล้ว (ถ้าส่วนสูงมากขึ้น ค่า BMI จะต่ำลงไปกว่านี้อีก)

แต่หลังจากนั้นน้ำหนักได้เพิ่มขึ้นกลายเป็น 48 กก. หลังจากเจอภาวะความเครียดและการกินที่มากกว่าปกติ (Binge eating) ซึ่งทำให้ค่า BMI กลายเป็น 21.1 ซึ่งอยู่ในช่วงปกติแทน (ซึ่งก็เป็นหนึ่งในผลของ Yoyo effect ที่น้ำหนักกลับมาเพิ่มขึ้นหลังพยายามลดน้ำหนักอย่างผิดวิธี)

การไดเอทในลักษณะที่เน้นการกินอาหารให้น้อยที่สุด กลับทำให้น้ำหนักแทนที่จะลดลงและคงอยู่ กลับเป็นเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมและลดได้ยากกว่าเดิม เพิ่มเติมคือเกิดปัญหาสุขภาวะทางจิตและการใช้ชีวิต

Anorexia nervosa คือโรคที่เกิดจากความต้องการในการลดน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นการลดการรับประทานอาหารเพื่อทำให้ร่างกายได้รับพลังงานน้อยที่สุด หรือขับอาหารออกจากร่างกาย (ไม่ว่าจะเป็นการอาเจียน หรือการใช้ยาระบาย) ส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่น้อยลงและมีผลต่อสมดุลต่าง ๆ ในร่างกาย (รวมไปถึงฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความเครียดและปัญหาสุขภาวะทางจิต)

ผู้ที่มีอาการ Anorexia nervosa จะมีความกังวลในเรื่องของน้ำหนักและรูปร่าง (กลัวการขึ้นของน้ำหนักและปฏิเสธที่จะคงน้ำหนักไว้ตามเกณฑ์มาตรฐาน) และพยายามลดการรับพลังงานที่เกิดจากการย่อยอาหาร และเพิ่มการออกกำลังกายเพื่อให้น้ำหนักลดลง 
(http://www.errama.com/system/spaw2/uploads/files/casereportpop.pdf?fbclid=IwAR2MyMd3sNHJs18pzXqypUMjU-qM4fL6z91JirLCHWtQv1HEjs6uK3nz5-A
https://centerfordiscovery.com/blog/bulimia-vs-anorexia-they-have-more-in-common-than-you-might-think/
https://www.hopkinsmedicine.org/psychiatry/specialty_areas/eating_disorders/faq.html
https://mgronline.com/live/detail/9610000002987
https://www.posttoday.com/social/general/513473)

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่สามารถตอบหรือวินิจฉัยได้อย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นไปได้ที่อาจไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้น Anorexia nervosa อย่างที่ผู้เขียนคาดเดา และเป็นเพียงความเห็นจากผู้เขียนเท่านั้น (ซึ่งการยืนยันตรงนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยและรักษา)

ในตอนนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า เธอได้เข้ารับการรักษาเพื่อควบคุมสมดุลในด้านการกินและเยียวยาผลกระทบทางจิตใจจากพฤติกรรมการกินและการไดเอทที่ผิดวิธีแล้ว แม้ว่าจะยังไม่เต็มที่แต่เธอก็ได้ให้ประสบการณ์และเรื่องราวที่น่าสนใจสำหรับเคสตัวอย่างของการไดเอทที่ผิดวิธี

บทส่งท้าย

ผู้เขียนมองเห็นเรื่องราวนี้แล้วทำให้นึกถึงเนื้อหาหนึ่งสมัยมหาวิทยาลัย และอยากขอบคุณอาจารย์ในเวลานั้นที่ทำให้ผู้เขียนนึกถึงสิ่งที่ได้ร่ำเรียนมา แต่สำหรับเรื่องราวของไอดอลคนนี้ ไม่ได้เป็นแค่ตัวอย่างที่อยากให้ทุกคนได้ลองหาทางเลือกที่ดีกว่าและปลอดภัยกว่านี้เท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นโลกอีกใบหนึ่งของไอดอลและเด็กสาวมัธยมปลายอีกด้านที่ควรเรียนรู้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ผิดพลาดซ้ำอีก

Comments

Popular posts from this blog

บทวิเคราะห์: เหตุผลที่ไม่มีทางที่จะได้เห็น Produce46..

Shiawase no Hogoshoku (しあわせの保護色) - กับตัวตนต่าง ๆ ของ Shiraishi Mai

Majimuri Gakuen (マジムリ学園) กับเค้าโครงประวัติศาสตร์จริง